วันอังคารที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ประเพณีไทยภาคอีสาน

ประเพณีบุญผะเหวด หรือ บุญพระเวสสันดร ประเพณีไทยภาคอีสาน



 
 
บุญผะเหวด บุญพระเวสสันดร หรือ บุญมหาชาติ ซึ่งเป็นการทำบุญในเดือนสี่ บางครั้งก็เรียก “ บุญเดือนสี่” ในบางท้องถิ่นจะทำบุญเดือนนี้ในเดือนสามรวมกับบุญข้าวจี่และบุญกุ้มข้าวใหญ่ ให้เป็นบุญเดียวกันส่วนเดือนสี่ก็เว้นไว้ บุญผะเหวดส่วนมากจะกระทำกันในเดือนสี่
 



บุญผะเหวด ประเพณีไทยภาคอีสาน ซึ่งจะทำบุญผะเหวด ปีละ ๑ ครั้ง ระหว่างเดือน ๓ เดือน ๔ ไปจนถึงกลางเดือน ๕ จะจัดประเพณีบุญผะเหวดในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนมีนาคมทุกปี โดยจะมีวันรวมตามภาษาอีสาน เรียกว่า วันโฮมบุญ พุทธศาสนิกชนมาช่วยกันจัดตกแต่งศาลาหรือสถานที่ที่จะทำบุญ จัดเตรียมเครื่องสักการะ ดอกไม้ ธูปเทียน ข้าวตอก อย่างละพันก้อน มีการตั้งธงใหญ่ ไว้แปดทิศ และมีศาลเล็กๆ เป็นที่เก็บข้าวพันก้อน และเครื่องคาวหวาน สำหรับ ผี เปรต และมารรอบๆ ศาลาการเปรียญจะแขวนผ้าผะเหวด เป็นเรื่องราวของพระเวสสันดร ตั้งแต่กัณฑ์ที่ ๑ ถึงกัณฑ์สุดท้าย การจัดงานบุญผะเหวด หรือ งานเทศน์มหาชาตินิยมที่อัญเชิญพระอุปคุต มาปกป้องคุ้มครองมิให้เกิดเหตุเภทภัยอันตรายทั้งปวง และให้โชค ลาภแก่พุทธศาสนิกชนในการทำบุญมหาชาติ จึงมีการแห่พระอุปคุต ซึ่งสมมุติว่า อัญเชิญมาจาก สะดือทะเล

บุญผะเหวด เป็นประเพณีไทยภาคอีสาน สืบทอดกันมาจากอดีตจนถึงปัจจุบันเป็นเวลาหลายร้อยปี เมื่อถึงเดือนสี่ชาวอีสานแต่ละหมู่บ้านจะประชุมกันเพื่อ กำหนดวันจัดงาน ตามความพร้อมของแต่ละหมู่บ้าน เมื่อกำหนดวันเรียบร้อยแล้ว ชาวบ้านจะบอกกล่าวญาติ พี่น้อง และหมู่บ้านใกล้เคียงให้มาร่วมงานบุญ และจะ ช่วยกันหาดอกไม้มาตากแห้งไว้ ช่วยกันฝานดอกโน (ทำจากลำต้นหม่อน) งานนี้เป็นงานใหญ่ทำติดต่อกันสามวัน

วันแรก ตามประเพณีไทยดั้งเดิมนั้น จะเรียกว่า วันบีบข้าวปุ้น หรือวันห่อข้าวต้ม ชาวบ้านจะเตรียมจัด ทำอาหารคาวหวาน ไว้ต้อนรับญาติพี่น้อง หรือเพื่อน สนิท มิตรสหายที่จะมาร่วมงานบุญ ซึ่งในงานประเพณี บุญผะเหวดร้อยเอ็ด กำหนดให้วันแรกตอนบ่ายๆ เป็นวัน แห่พระอุปคุตรอบเมือง ให้ประชาชนได้สักการบูชา แล้ว นำไปประดิษฐานไว้หออุปคุต ภายในบริเวณงาน เพราะ เชื่อว่าเป็นพระเถระ ผู้มีฤทธิ์ นิรมิตกุฏิอยู่กลางแม่น้ำมหาสมุทร สามารถขจัดเภทภัยทั้งมวลได้ และพระอุปคุต ยังปกป้องคุ้มครองมิให้เกิดเหตุเภทภัยอันตรายทั้งปวง และให้โชคลาภแก่พุทธศาสนิกชนในการทำบุญมหาชาติ จึง มีการแห่พระอุปคุต ซึ่งสมมุติว่า อัญเชิญมาจากสะดือทะเล

วันที่สอง ตามประเพณีไทยดั้งเดิมถือว่าเป็นวันโฮม (วันรวม) จะเป็นวันที่ญาติพี่น้อง ที่รู้ข่าวการทำบุญ มหาทานจะมาร่วมทำบุญโดยนำข่าวสาร อาหารแห้ง มาร่วมสมทบ และร่วมรับประทานอาหารตลอดทั้งวัน พร้อมทั้งนำอาหารต่างๆ ไปฝากญาติพี่น้องคนอื่นๆ ด้วย ในงานประเพณีบุญผะเหวดร้อยเอ็ด กำหนดให้เป็นวันแห่ พระเวสสันดรเข้าเมือง แต่ละคุ้มวัดตลอดทั้งอำเภอทุก อำเภอในจังหวัดร้อยเอ็ด จำนวน ๒๐ อำเภอ จะจัดขบวน แห่แต่ละกัณฑ์ทั้ง ๑๓ กัณฑ์แห่รอบเมือง ตอนเย็นมีมหรสพ สมโภช ในวันที่ ๒ และ ๓ ชาวร้อยเอ็ดทุกภาคส่วนทั้งภาค ราชการ บริษัทห้างร้าน เอกชน จะมีตั้งเต็นท์บริการเลี้ยง ข้าวปุ้นฟรีตลอดงาน

วันที่สาม เป็นวันแห่กัณฑ์จอบกัณฑ์หลอน เริ่มตั้งแต่ เช้ามืด ประมาณตีสี่ ชาวบ้านจะนำข้าวเหนียวมาปั้นเป็นก้อน มาทำพิธีเพื่อเอาบูชากัณฑ์เทศน์ คาถาพัน เรียกว่า”ข้าว พันก้อน” ชาวบ้านจะพากันแห่ข้าวพันก้อนรอบศาลาวัด มี หัวหน้ากล่าวคำบูชา

บุญผะเหวด หรืองานบุญมหาชาติ ถือเป็นงานมหากุศล ให้รำลึกถึงการบำเพ็ญบุญ คือ ความดีที่ยิ่งใหญ่ อันมีการ สละความเห็นแก่ตัวเพื่อผลคือ ประโยชน์สุขอันไพศาลของ มวลชนมนุษย์ชาติเป็นสำคัญ ดังนั้น บรรพชนชาวไทยอีสาน แต่โบราณ จึงถือเป็นเทศกาลที่ประชาชนทั้งหลายพึงสนใจ ร่วมกระทำบำเพ็ญ และได้อนุรักษ์สืบทอดเป็นวัฒนธรรมประเพณี สืบมาจนถึงอนุชนรุ่นหลังที่ควรเห็นคุณค่าและอนุรักษ์เป็น วัฒนธรรมสืบไป นอกจากนี้ยังเป็นการสังสรรค์ ระหว่าง ญาติพี่น้องจากแดนไกลสมกับคำกล่าวที่ว่า "กินข้าวปุ้น เอาบุญผะเหวด ฟังเทศน์มหาชาติ"
ประเพณีว่าวอีสาน 'นอนดูดาว ดูว่าวกลางคืน' จังหวัดบุรีรัมย์
 
ประเพณีเล่นว่าว เป็นประเพณีการละเล่นที่มีมาแต่โบราณดึกดำบรรพ์ โดยอาศัยกระแสลมส่งโครงรูปเบาที่มี ขนาดและรูปร่างแตกต่างกันปิดด้วยกระดาษหรือผ้าให้ลอยขึ้นไปอยู่ในอวกาศ ผู้เล่นจะคอยสาว สายป่าน ดึงเข้ามาแล้วผ่อนออกไป เพื่อโต้ลมที่พัดเข้ามาปะทะมิให้สายป่านขึงตึงจนเกินไป


 
 



 
การเล่นว่าวทางภาคอีสานนั้น จะเป็นช่วงฤดูสั้นๆ ประมาณ 1-2 เดือนเท่านั้น ในช่วงเดือน พฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคม เพราะช่วงนี้มีลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดผ่าน หรือที่ชาวบ้าน เรียกว่า "ลมบน"”และต้องเล่นว่าวในยามค่ำคืน ช่วงเวลา ตั้งแต่ 5 โมงเย็นเรื่อยไปจนถึง สว่างประมาณ ตี 5 หรือ 6 โมงเช้า ลมว่าวก็จะหมดลง ว่าวก็ตกลงมา
 

 
ประเพณีการเล่นว่าวเป็น ประเพณีไทยภาคอีสาน โดยมากจะมีการเล่นที่แฝงไว้กับจุดมุ่งหมาย โดยเฉพาะเรื่อง การบวงสรวงหรือการเสี่ยงทาย จะเห็นว่าการเล่นว่าวของชาวอีสานมีความเชื่อมโยงกับเรื่อง ของความเชื่อกับการพยากรณ์ การเสี่ยงทายความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธ์ธัญญาหาร
 

 
ตามความเชื่อของชาวบุรีรัมย์ และคนอีสาน ช่วงเก็บเกี่ยวข้าวจะปล่อยว่าวขึ้นบนท้องฟ้า เป็นการเสี่ยงทายตามขนบธรรมเนียมประเพณี ปีใดว่าวแอกขึ้นสูงมีเสียงดังจะชี้ได้ว่าปีนั้น ข้าวปลา พืชพันธ์ธัญญาหารของเกษตรกรจะมีความอุดมสมบูรณ์ หลังฤดูเก็บเกี่ยวเกษตรกรก็จะตัดสายว่าวของตน ปล่อยให้ล่องลอยไปตามสายลม ถือได้ว่าเป็นการตัดเวรตัดกรรมของเกษตรกรเองด้วย ปีนี้อำเภอห้วยราช จ.บุรีรัมย์ จัดอย่างยิ่งใหญ่เพราะงานว่าวปีนี้ทางอำเภอจัดงานกาชาดร่วมกับงานว่าวเป็นปีแรก ซึ่งได้นำผลิตภัณฑ์ของชาวบ้านและอำเภอต่าง ๆ ในจังหวัดบุรีรัมย์ร่วมออกงานงานกาชาดจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 7 ธันวาคม
 
 



ภายในงานจะจำหน่ายมัจฉากาชาดและการแสดงของมดน้อยกันตรึมร็อกและกันตรึมส่องแสงรุ่งเรืองชัย นอกจากนั้นยังมีการประกวดร้องเพลงลูกทุ่ง ประกวดธิดากาชาด หนูน้อยกาชาด ร้านนิทรรศการ ร้านโอทอปของชาวบ้านจาก 8 ตำบลของอำเภอห้วยราชและจากอำเภอต่าง ๆ อาทิ ผ้าไหม เครื่องจักสาน ฯลฯ

งานประเพณีมหกรรมว่าวอีสานบุรีรัมย์ มีการจัดกิจกรรมการแข่งขันว่าวแอกโบราณ ว่าวแอกพัฒนา ว่าวแอกยักษ์ ว่าวประดิษฐ์เยาวชน ว่าวสวยงาม ว่าวแอกเยาวชน รวมทั้งการแข่งขันแกว่งแอก และชมการละเล่นศิลปะพื้นบ้านสะท้อนถึงวิถีชีวิตของชนสี่เผ่า ลาว เขมร ส่วยและโคราช ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์มาช้านาน นอกจากนั้น ยังจัดให้มีขบวนแห่และประกวดธิดาว่าว จากทุกอำเภอ กิ่งอำเภอ รวมถึงการจัดแสดงและจำหน่ายสินค้าหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์จากทุกอำเภอและกิ่งอำเภอ ส่วนในภาคกลางคืนเชิญชมมหรสพสมโภช การแสดงดนตรี การละเล่นพื้นบ้านอีกมากมาย
ประเพณีบายศรีสู่ขวัญ ประเพณีไทยภาคอีสาน
 
การสู่ขวัญนั้นถือเป็นประเพณีไทยภาคอีสานที่ต้องการบำบัดทางจิตใจ โดยที่การสู่ขวัญนั้นทำให้ผู้ที่ได้รับการสู่ขวัญนั้นเกิดความมั่นใจมายิ่งขึ้น จะเห็นได้จากการรักษาโรคของแพทย์นั้นจะต้องใช้วิธีการจิตบำบัดควบคู่ไปกับการรักษาทางวิทยาศาสตร์ การสู่ขวัญนี้ก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน เช่น หากผู้ที่เข้าพิธีสู่ขวัญมีอาการไม่สบายอยู่ก่อนแล้วแต่เมื่อได้รับการสู่ขวัญแล้วบุคคลนั้นก็จะเกิดความมั่นใจว่าตนเองต้องหาย เมื่อมีความมั่นใจว่าต้องหายป่วยอาการต่าง ๆ ที่เคยเป็นก็ค่อยทุเลาลงเนื่องมาจากจิตใจเป็นตัวกำหนดนั่นเอง
ประเพณีบายศรีสู่ขวัญ ประเพณีไทยภาคอีสาน
 
การสู่ขวัญนั้นถือเป็นประเพณีไทยภาคอีสานที่ต้องการบำบัดทางจิตใจ โดยที่การสู่ขวัญนั้นทำให้ผู้ที่ได้รับการสู่ขวัญนั้นเกิดความมั่นใจมายิ่งขึ้น จะเห็นได้จากการรักษาโรคของแพทย์นั้นจะต้องใช้วิธีการจิตบำบัดควบคู่ไปกับการรักษาทางวิทยาศาสตร์ การสู่ขวัญนี้ก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน เช่น หากผู้ที่เข้าพิธีสู่ขวัญมีอาการไม่สบายอยู่ก่อนแล้วแต่เมื่อได้รับการสู่ขวัญแล้วบุคคลนั้นก็จะเกิดความมั่นใจว่าตนเองต้องหาย เมื่อมีความมั่นใจว่าต้องหายป่วยอาการต่าง ๆ ที่เคยเป็นก็ค่อยทุเลาลงเนื่องมาจากจิตใจเป็นตัวกำหนดนั่นเอง
 
 
 
 ประเพณีบายศรีสู่ขวัญ เป็นประเพณีไทยที่มีในหลายจังหวัดของประเทศไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดทางภาคอีสาน ประเพณีบายศรีสู่ขวัญใช้เครื่องเชิญขวัญที่เรียกว่า บายศรี ทำด้วยใบตอง รูปคล้ายกระทง เป็นชั้น ๆ มีขนาดใหญ่เล็กสอบขึ้นไปตามลำดับ เป็น 3 ชั้น 5 ชั้น 7 ชั้น หรือ 9 ชั้น มีเสาปักตรงกลางเป็นแกน มีเครื่องสังเวยวางอยู่ในบายศรี และมีไข่ขวัญ (ไข่ต้ม) เสียบอยู่บนยอดบายศรี มีหลายประเภท เช่น บายศรีตอง บายศรีปากชาม บายศรีใหญ่ (ภาษาเขมร บาย = ข้าว + ศรี = สิริ หมายความว่า ข้าวอันเป็นสิริหรือข้าวขวัญ) มีการพันสายสิญจน์ไว้โดยรอบเพื่อใช้ผูกข้อมือผู้รับขวัญ ผู้นำทำพิธีเรียกว่า หมอขวัญ
ประเพณีผูกเสี่ยวและเทศกาลงานไหม จังหวัดขอนแก่น
 
ประเพณีผูกเสี่ยวและเทศกาลงานไหม จังหวัดขอนแก่น เป็นงานเทศกาลที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ในปลายเดือน พฤศจิกายน ถึงเดือนธันวาคม เวลา ๑๐ วัน ๑๐ คืน ณ บริเวณสนามกีฬากลางจังหวัด

 
ประเพณีผูกเสี่ยว คำว่า "เสี่ยว" เป็นภาษาถิ่นอีสาน แปลว่า มิตรแท้, เพื่อนแท้, เพื่อนตาย มีความผูกพันซื่อสัตย์ และจริงใจต่อกัน ประเพณีผูกเสี่ยว เป็นประเพณีสำคัญที่จัดขึ้นนี้เป็นประเพณีไทยดั้งเดิม ที่มุ่งให้คนในชาติมีความรักใคร่กลมเกลียว สมานสามัคคีกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ดังนั้นในงานนี้จึงมีขบวนแห่คู่เสี่ยวและพานบายศรีของอำเภอต่างๆ ในตอนเย็น ของวันเปิดงานจะมีการจัดเลี้ยงพาแลง ณ บริเวณคุ้มวัฒนธรรม ซึ่งจัดสร้างขึ้นในงาน เพื่อใช้เป็นเวทีการแสดงพื้นบ้านต่าง ๆ


พิธีบายศรีสู่ขวัญ บางครั้งก็เรียกว่า พิธีบายศรี, พิธีสู่ขวัญ, พิธีทำขวัญ, พิธีรับขวัญ เป็นประเพณีอย่างหนึ่งของคนไทย และคนลาว ด้วยความเชื่อที่ว่า ทุกคนเกิดมาพร้อมกับสิ่งนามธรรมอย่างหนึ่งที่เรียกกันว่า “ขวัญ” ซึ่งมีหน้าที่รักษาประคับประคองชีวิตและติดตามเจ้าของไปทุกหนแห่ง การทำพิธีสู่ขวัญจึงเป็นการเชิญขวัญที่หนีหายไปให้เข้ามาอยู่กับตัว และเชื่อว่าเป็นการส่งเสริมพลังใจให้เข้มแข็ง มีสติและไม่ประมาท

การจะประกอบประเพณีบายศรีสู่ขวัญพิธีนั้นทางศาสนาพุทธและศาสนาพราหมณ์เริ่มต้นด้วยการ นิมนต์พระสงอย่างน้อย 5 รูป มาเจริญพระพุทธมนต์และเลี้ยงพระ เมื่อเสร็จพิธีทางศาสนาพุทธแล้วจึงจะทำพิธีสู่ขวัญ การจัดพาขวัญ จะทำเป็นบายศรีหรือใบศรี 3 ชั้น 5 ชั้น 7 ชั้น ขึ้นอยู่กับโอกาส และควมาเหมาะสม บายศรีชั้นล่างจะบรรจุดอกไม้ บายศรีชั้น 5 จะบรรจุฝ้ายผูกแขน เวียนเทียนรอบหัว เวียนเทียนรอบตัว นอกจากจัดพาขวัญแล้วจะต้องนำผ้าแพร หวี กระจก น้ำอบน้ำหอม สร้อยแหวน ของผู้ที่เป็นเจ้าของขวัญใส่พานอีกใบหนึ่งวางไว้ข้าง ๆ พาขวัญ การสวด ผู้เป็นเจ้าของขวัญต้องจับพาขวัญด้วยมือขวา ตั้งจิตอธิษฐานขอให้เป็นไปตามคำสู่ขวัญ ญาติพี่น้องจะนั่งล้อมวงอยู่ด้านหลังตั้งจิตอธิษฐานให้เจ้าของขวัญมีความสุข ความเจริญ พราหมณ์หรือหมอขวัญจะเริ่มทำพิธีด้วยการจุดธูปและเวียนรอบตัว กราบพระรัตนไตยมือจับสายสิญจน์ขึ้นประนมแล้วกล่าวคำสูตรขวัญเป็นการเชิญขวัญ การเชิญขวัญนี้จะต้องสวดสูตรขวัญด้วยทำนองที่ไพเราะเร้าใจให้ขวัญมาสู่ตน เมื่อสู่ขวัญเสร็จแล้วพราหมณ์จะผูกแขนให้เจ้าของขวัญเป็นคนแรก ต่อจากนั้นญาติพี่น้องจะช่วยกันผูกแขนด้วยฝ้ายผูกแขน ถือว่าเป็นการผู้ขวัญให้อยู่กับตนในขณะที่ผู้กข้อมือก็จะให้พรแก่เจ้าของ ขวัญด้วย
"ขวัญ" ตามความหมายที่ใช้กันหมายถึง ผมที่ขึ้นเวียนเป็นก้นหอยบนศรีษะ นอกจากนี้ยังกินความรวมไปถึง วิญญาณหรือสิ่งที่ไม่มีตัวตนประจำกายคนและสัตว์มาตั้งแต่แรกเกิด ชาวอีสานนิยมเรียกสิ่งที่ตนรักว่า "ขวัญ" เช่น เมียขวัญ เสาขวัญ นาขวัญ ข้าวขวัญ และเรียกผู้ที่รู้พิธีทำขวัญว่า "หมอขวัญ" หรือพราหมณ์ พิธีเรียกขวัญให้มาอยู่กับตนเรียกว่า "สู่ขวัญ" เรียกว่า "สูตรขวัญ" เหตุที่ทำการสู่ขวัญเพื่อความเป็นสิริมงคลในชีวิตทั้งในยามประสบโชคและประสบ เคราะห์ เช่น เจ็บไข้ได้ป่วยก็ทำพิธีสู่ขวัญ ย้ายที่อยู่ ไปค้าขายได้เงินทองมามากก็สู่ขวัญขึ้นบ้านใหม่ ประกอบการงานเสร็จเป็นผลสำเร็จ ได้ลาภ ยศ เกียรติ เสื่อมลาภ ยศ เกียรติก็จะทำพิธีสู่ขวัญ

ที่มา ประเพณีไทย ประเพณีบายศรีสู่ขวัญ วิถีชีวิต จังหวัดนครพนม
 
 
 
 
 
 

เทศกาลงานไหมนี้เป็นงานที่จังหวัดได้จัดขึ้นโดยมุ่งส่งเสริมอาชีพการทอผ้าไหมมัดหมี่ และเพื่อรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีผูกเสี่ยว ซึ่งเป็นประเพณีไทยดั้งเดิมไว้ ในงานจะมีหน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชน มาร่วมออกร้านแสดงผลิตภัณฑ์ และจำหน่ายสินค้าพื้นบ้าน ของที่ระลึก มีการประกวดธิดาไหม มีการประกวดผลิตภัณฑ์พื้นบ้าน ประกวดขบวนแห่ และประกวด การออกร้าน
 
 
 
 
 
อุปกรณ์ที่สำคัญในประเพณีผูกเสี่ยวมีพานบายศรีอาจเป็นบายศรี ๓ ชั้น ๕ ชั้น หรือ ๗ ชั้น และมีเครื่องประกอบอีกหลายอย่าง คือ สุรา ๑ ขวด ไข่ไก่ต้ม ๑ ฟอง ข้าวต้มมัด ๔ ห่อ กล้วยสุก ๔ ผล ข้าวเหนียวนึ่ง ๑ ปั้น ใบพืชที่เป็นมงคล เช่น ใบคูน ใบเงิน ใบทอง ใบยอ ดอกรัก และที่ขาดไม่ได้คือ ฝ้ายผูกแขน เชิญแขกมงคลมาร่วมพิธี คู่เสี่ยวนั่งล้อมพานบายศรี หมอพราหมณ์เริ่มพิธีด้วยการจุดเทียนที่พานบายศรี อัญเชิญเทวดาลงมาเป็นสักขีพยาน กล่าวถึงงานบายศรีสู่ขวัญเนื่องในโอกาสต่าง ๆ เช่น งานมงคลสมรส มีบุตรใหม่ ขึ้นบ้านใหม่ การเลื่อนยศ การผูกเสี่ยว การบวชนาค ฯลฯ แล้วกล่าวคำอัญเชิญขวัญตามโอกาส เมื่อถึงบทเชิญขวัญผู้ร่วมพิธีจะตะโกนเรียกขวัญของผู้ร่วมพิธีให้มาอยู่กับเนื้อกับตัว จบแล้วหมอพราหมณ์และแขกจะนำด้วยมงคลผูกข้อมือของคู่ขวัญ พร้อมทั้งให้ศีลให้พร ให้รักใคร่สามัคคี ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ต่อจากนั้นคู่ขวัญก็จะผูกข้อมือซึ่งกันและกัน

 
เทศกาลงานไหมเป็นงานที่จังหวัดขอนแก่นได้จัดขึ้นทุกปี เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๒ จนถึงปัจจุบันโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมอาชีพการทอผ้าไหม มีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมออกร้านแสดงผลิตภัณฑ์และจำหน่ายสินค้าพื้นเมือง (ผ้าไหม) และของที่ระลึกอื่น ๆ นอกจากนี้ยังมีการแสดงเพื่อฟื้นฟูและส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น

ประเพณีผูกเสี่ยว ก็เป็นประเพณีสำคัญที่จัดขึ้นพร้อมกันกับงานเทศกาลไหม โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้คนในท้องถิ่นและคนในชาติมีความรักใคร่กลมเกลียว สมัครสมานสามัคคีและช่วยเหลือเกื้อกูลกันคำว่า "เสี่ยว" เป็นภาษาถิ่นอีสาน แปลว่า มิตรแท้ เพื่อนแท้ เพื่อนตาย มีความผูกพัน ซื่อสัตย์ และจริงใจต่อกัน
เทศกาลแห่ดาวคริสต์มาส กิจกรรมประเพณี ชาวจังหวัดสกลนคร
 
จังหวัดสกลนคร จัดงานเทศกาลแห่ดาวคริสต์มาส ประเพณีของชาวสกลนครแห่งเดียวในประเทศไทย เพื่อสืบทอดงานประเพณีแห่ดาวคริสต์มาส และส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัด
 
 
 
 
 
 
การจัดงานเทศกาล แห่ดาวคริสต์มาสจังหวัดสกลนคร มีกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 25 ธันวาคม 2555 ณ. บริเวณสำนักมิสซังโรมันคาทอลิกท่าแร่-หนองแสง (โรงเรียนเซนต์ยอแซฟสกลนคร) อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร เพื่อสืบทอดงานประเพณีแห่ดาวคริสต์มาส เฉลิมฉลองการประสูติขององค์พระเยซูคริสต์เจ้า และขอพรสำหรับสันติภาพในโลก

ตลอดจนเพื่อเสริมสร้างความรัก ความสามัคคี และส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดสกลนคร การจัดงานแห่ดาวคริสต์มาส มีแห่งเดียวในประเทศไทย ชมขบวนแห่รถยนต์ดาวประดับตกแต่งด้วยไฟแสงสีที่ยิ่งใหญ่ และสวยงามตระกาลตา ของชาวคริสต์จาก 4 จังหวัด คือ สกลนคร นครพนม มุกดาหาร และกาฬสินธุ์ โดยจะแห่จาก ถนนหน้าศูนย์ราชการ ไปตามถนนต่างๆ ในเขตเทศบาลเมืองสกลนคร เพื่อให้ประชาชนในเทศบาลได้ชม จากนั้นขบวนจะไปบริเวณสำนักมิสซังโรมันคาทอลิกท่าแร่-หนองแสง (โรงเรียนเซนต์ยอแซฟสกลนคร) เพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนาระลึก ถึงการประสูติของพระเยซูเจ้า และขอบคุณพระองค์ที่นำแสงสว่าง และความรอดพ้นมาสู่มวลมนุษย์

เพื่อร่วมฉลองการบังเกิดของพระเยซูและขอบคุณที่พระองค์นำแสงสว่างความรอดพ้นมาสู่มวลมนุษย์ ตลอดจนเพื่ออนุรักษ์วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของท้องถิ่นและส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดสกลนคร
 
 
 
 
 
เทศกาลแห่ดาวคริสต์มาส เป็นส่วนหนึ่งของการเฉลิมฉลองเทศกาลคริสต์มาสที่ไม่จำกัดอยู่เพียงผู้นับถือศาสนาคริสต์เท่านั้น แต่มีการเฉลิมฉลองกันอย่างยิ่งใหญ่ทั่วโลก โดยมีตำนานเล่าว่าบัณฑิต 3 คน ออกเดินทางตามแสงแห่งดวงดาว และดาวมาดับแสง ณ ที่ประสูติของพระเยซู จึงถือว่าดาวเป็นสัญลักษณ์ของการเสด็จมาประสูติของพระเยซูเจ้า จึงมีการริเริ่มประเพณีแห่ดาวเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์นั้น ซึ่งเป็นการแสดงถึงความเป็นหนึ่งเดียวกันของชาวคาทอลิก รวมทั้งผู้นับถือศาสนาอื่นๆ จึงขอเชิญชวนนักท่องเที่ยวที่สนใจมาร่วมเฉลิมฉลองเทศกาลคริสต์มาสที่จังหวัดสกลนคร ระหว่างวันที่ 23-25 ธันวาคม 2555 นี้ ณ ชุมชนบ้านท่าแร่ และบริเวณสนามมิ่งเมือง อ.เมือง จ.สกลนคร กิจกรรมในงานได้แก่ การแห่ดาวแบบดั้งเดิมของชุมชนท่าแร่ ด้วยดวงดาวน้อยใหญ่ที่ถืออยู่ในมือ พิธีบูชามิสซา ณ โบสถ์อาสนวิหารอัครเทวดามีคาแอล การแสดงละครเทวดาประสูติองค์พระเยซูเจ้า ตระการตากับขบวนรถแห่ดาวที่ประดับตกแต่งด้วยดวงดาวรูปต่างๆ กว่า 20 ขบวน นอกจากนั้นยังมีกิจกรรมนั่งรถรางชมเมือง สัมผัสบรรยากาศตะวันรอนที่หนองหาร ชมสถาปัตยกรรมอาคารบ้านเรือนเก่าแบบโคโรเนียลที่ประดับตกแต่งด้วยดวงดาวระยิบระยับสวยงาม ชมซุ้มสาธิตการประดิษฐ์ดาว พร้อมเดินเที่ยวในถนนคนเดินชุมชนท่าแร่ “ถนนข้าวใหม่ปลามัน” ในวันที่ 23-24 ธันวาคม 2555 ณ ชุมชนบ้านท่าแร่

 
วันที่ 25 ธันวาคม 2555 ชมความอลังการตระการตากับขบวนรถดาวกว่า 200 คัน จากชุมชนชาวคริสต์ในเขต จ.สกลนคร นครพนม มุกดาหาร และกาฬสินธุ์ ที่จัดส่งรถดาวเข้าประกวดและร่วมขบวนแห่ ซึ่งจะเริ่มขบวนแห่ในเวลา 18.00 น.เป็นต้นไป โดยเริ่มจากบริเวณหน้าประตูศูนย์ราชการจังหวัดสกลนคร แห่รอบตัวเมืองไปยังบริเวณจัดงาน ณ บริเวณสนามมิ่งเมือง ละลานตากับดาวบนดินนับหมื่นดวง สนุกสนานกับบรรยากาศการเฉลิมฉลองเทศกาลคริสต์มาส

พร้อมชมการร้องเพลงประสานเสียงเพลงคริสต์มาส การแสดงละครเทวดาวันคริสตสมภพ และพลุไฟเฉลิมฉลองเทศกาลคริสต์มาสตระการตา นอกจากนี้นักท่องเที่ยว ยังสามารถเที่ยวชมสถานที่ท่องเที่ยวใกล้เคียงใน จ.สกลนคร และนครพนม อาทิ นมัสการพระธาตุเชิงชุม ชมพิพิธภัณฑ์หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต เที่ยวโครงการพระราชดำริ ชม 3 ดำมหัศจรรย์ ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน นมัสการพระธาตุประสิทธิ์ ชมหมู่บ้านแห่งเสียงดนตรีอีสาน แหล่งผลิตเครื่องดนตรี พิณ แคน โหวด ที่บ้านท่าเรือ ชมกรรมวิธีผลิตผ้าย้อมครามที่บ้านพันนา และเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เซรามิคขึ้นชื่อที่ศูนย์ศิลปาชีพกุดนาขาม
ประเพณีไทยบุญข้าวประดับดิน บุญเดือนเก้า
 
ประเพณีบุญข้าวประดับดิน เป็นประเพณีไทยหนึ่งในฮีตสิบสอง นิยมทำกันในวันแรม 14 ค่ำ เดือนเก้า หรือที่เรียกว่า บุญเดือนเก้า บุญข้าวประดับดิน เป็นบุญที่ทำเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ เปรต (ชาวอีสานบางถิ่นเรียก เผต) หรือญาติมิตรที่ตายไปแล้ว ข้าวประดับดิน ได้แก่ ข้าวและอาหารคาวหวาน พร้อมหมากพลู บุหรี่ที่ห่อด้วยใบตอง กล้วย นำไปวางไว้ตามใต้ต้นไม้ แขวนไว้ตามกิ่งไม้ ตามบริเวณกำแพงวัดบ้าง (คนอีสานโบราณเรียกกำแพงวัดว่า ต้ายวัด) หรือวางไว้ตามพื้นดิน เรียกว่า "ห่อข้าวน้อย" พร้อมกับเชิญวิญญาณของญาติมิตร นำภัตตาหารไปถวายแด่พระภิกษุ สามเณร แล้วอุทิศส่วนกุศลแก่ผู้ตาย โดยหยาดน้ำ (กรวดน้ำ) ไปให้ด้วย

 
 
ประเพณีบุญข้าวประดับดินนี้ นอกจากจะเป็นการอุทิศส่วนกุศลให้บรรพบุรุษและผีไร้ ญาติตามความเชื่อแล้ว ถือว่าเป็นการให้ทานแก่ผู้ยากไร้รวมทั้งสัตว์ที่ไม่มีเจ้าของ ที่ต้องหิว อดมื้อกินมื้อมาตลอดทั้งปีด้วย เพราะการที่ตั้งอาหารไว้ที่พื้นทำให้สัตว์เหล่านั้นสามารถเข้ามากินอาหารได้ อย่างเต็มที่ ทุกวันนี้คนเราส่วนมากมักนึกถึงแต่เรื่องของตนเองเป็นสำคัญ การมีงานบุญงานประเพณี อย่าง บุญห่อข้าวประดับดิน จะช่วยกระตุ้นเตือนให้เราได้นึกถึงผู้อื่นบ้าง จึงน่าจะถือได้ว่าเป็นวันแห่งการชำระล้างความเห็นแก่ตัวออกไปจากจิตใจด้วย

ความเป็นมาประเพณีบุญข้าวประดับดิน
โบราณท่านเขียนไว้ในหนังสือฉลอง ความว่า “ครั้งที่มหาโมคคัลลาน์แทรกแผ่นดินลงไปเยือนนรก ซึ่งเขากำลังเสวยกรรมอยู่ในแดนต่างๆ พอท่านไปถึงก็บันดาลให้ไฟนรกดับ สัตว์นรกก็ไม่ได้เสวยกรรม พอท่านจะกลับมายังโลกมนุษย์พวกสัตว์นรกได้สั่งท่านให้มาบอกญาติพี่น้องทาง โลกได้ทราบ และทำทานอุทิศส่วนกุศลไปให้บ้าง เมื่อพระโมคคัลลาน์กลับมาถึงชมพูทวีปก็ประกาศข่าวนี้ให้ประชาชนทราบ ซึ่งวันนั้นตรงกับวันดับเดือนเก้า (วันแรม 15 ค่ำ) จึงถือเอาวันดังกล่าวเป็นวันทำบุญข้าวประดับดิน

อีกตำนานก็เล่าว่า มีเรื่องเล่าไว้ในพระธรรมบทว่าญาติของพระเจ้าพิมพิสารกินของสงฆ์เมื่อตาย แล้วไปเกิดในนรก ครั้นพระเจ้าพิมพิสารถวายทานแด่พระพุทธเจ้าแล้วมิได้อุทิศให้ญาติที่ตาย กลางคืนพวกญาติที่ตายมาแสดงตัวเปล่งเสียงน่ากลัวให้ปรากฏใกล้พระราชนิเวศน์ รุ่งเช้าได้เสด็จไปทูลถามพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ทูลเหตุุให้ทราบ พระเจ้าพิมพิสารจึงถวายทานอีกแล้วอุทิศส่วนกุศลไปให้ญาติที่ตายไปจึงได้รับ ส่วน กุศลการทำบุญข้าวประดับดิน ทำเพื่ออุทิศส่วนกุศลแก่ญาติผู้ตายแล้ว ถือเป็นประเพณี ที่ต้องทำเป็นประจำทุกปี

ประเพณีบุญข้าวประดับดินหรือบุญเดือนเก้า ที่จำเพาะต้องเป็นเดือนนี้ เนื่องจาก เป็นช่วงกึ่งกลางฤดูฝนพอดี เป็นช่วงเวลา ที่ข้าวปลาอาหาร อุดมสมบูรณ์ที่สุด น้ำในแม่น้ำลำคลอง ก็เต็มตลิ่ง เกาะแก่งกลางน้ำหายไป เพราะน้ำท่วมมิด ช่วงเวลาที่ดูเหมือนจะสมบูรณ์เช่นนี้ ทำให้ลูกหลาน ระลึกถึงพระคุณ ของบรรพบุรุษ และคิดตอบแทนบ้าง ซึ่งในบุญเดือนเก้านี้ถือกันว่า ผีเครือญาติ ที่ยังไม่หมดกรรม จะได้รับการปลดปล่อย ให้กลับมาเยี่ยมโลกมนุษย์อีกครั้ง พร้อมทั้งรับส่วนบุญที่ลูกหลานอุทิศให้
 
 
ประเพณีไทย ประเพณีบุญบั้งไฟ จังหวัดยโสธร
 
ประเพณีบุญบั้งไฟ เป็นประเพณีไทย อย่างหนึ่งของภาคอีสานของไทยรวมไปถึงชาวลาว โดยมีตำนานมาจากนิทานพื้นบ้านของภาคอีสานเรื่องพระยาคันคาก เรื่องผาแดงนางไอ่
ประเพณีบุญบั้งไฟ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า บุญเดือนหก เป็นประเพณีไทยที่จัดขึ้นประจำทุกปี ในช่วงเดือนพฤษภาคมซึ่งเป็นช่วงก่อนที่จะลงมือทำนา สำหรับที่จังหวัดยโสธรจะจัดงานบุญบั้งไฟในวันสุดสัปดาห์ที่ ๒ ของเดือนพฤษภาคม ในวันศุกร์จะเป็นวันที่คณะบั้งไฟทั้งหลายแห่ขบวนเซิ้งเพื่อขอรับบริจาคเงิน ซื้ออาหาร เครื่องดื่ม และสิ่งของจำเป็นในการร่วมทำบุญ สำหรับวันเสาร์จะเป็นวันแห่ขบวนฟ้อนรำเพื่อการแข่งขันด้านความสวยงามของท่า ฟ้อนในจังหวะต่าง ๆ ตลอดทั้งการตกแต่งบั้งไฟและการจัดขบวนที่สวยงาม ส่วนในวันอาทิตย์จะเป็นวันจุดบั้งไฟ แข่งขันการขึ้นสูงของบั้งไฟ และการที่บั้งไฟสามารถลอยอยู่ในอากาศได้นานจะเป็นเครื่องตัดสินการชนะเลิศ ของการแข่งขัน
 
 
 
 
ประเพณีบุญบั้งไฟ ตามตำนานประเพณีไทยเล่าว่า เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าถือ ชาติกำเนิดเป็นพญาคางคก ได้อาศัยอยู่ใต้ร่มโพธิ์ใหญ่ในเมืองพันทุมวดี ด้วยเหตุใดไม่แจ้ง พญาแถนเทพเจ้าแห่งฝนโกรธเคืองโลกมนุษย์มาก จึงแกล้งไม่ให้ฝนตกนานถึง ๗ เดือน ทำให้เกิดความลำบากยากแค้นอย่างแสนสาหัสแก่มวลมนุษย์ สัตว์และพืช จนกระทั่งพากันล้มตายเป็นจำนวนมาก พวกที่แข็งแรงก็รอดตายและได้พากันมารวมกลุ่มใต้ต้นโพธิ์ใหญ่กับพญาคางคก สรรพสัตว์ทั้งหลายจึงได้หารือกันเพื่อจะหาวิธีการปราบพญาแถน ที่ประชุมได้ตกลงกันให้พญานาคียกทัพไปรบกับพญาแถน แต่ก็ต้องพ่ายแพ้ จากนั้นจึงให้พญาต่อแตนยกทัพไปปราบแต่ก็ต้องพ่ายแพ้อีกเช่นกัน ทำให้พวกสรรพสัตว์ทั้งหลายเกิดความท้อถอย หมดกำลังใจและสิ้นหวัง ได้แต่รอวันตาย ในที่สุด พญาคางคกจึงขออาสาที่จะไปรบกับพญาแถน จึงได้วางแผนในการรบโดยปลวกทั้งหลายก่อจอมปลวกขึ้นไปจนถึงเมืองพญาแถน เพื่อเป็นเส้นทางให้บรรดาสรรพสัตว์ทั้งหลายได้เดินทางไปสู่เมืองพญาแถน ซึ่งมีมอด แมลงป่อง ตะขาบ สำหรับมอดได้รับหน้าที่ให้ทำการกัดเจาะด้ามอาวุธที่ทำด้วยไม้ทุกชนิด ส่วนแมลงป่องและตะขาบให้ซ่อนตัวอยู่ตามกองฟืนที่ใช้หุงต้มอาหาร และอยู่ตามเสื้อผ้าของไพร่พลพญาแถนทำหน้าที่กัดต่อย หลังจากวางแผนเรียบร้อย กองทัพพญาคางคกก็เดินทางเพื่อปฏิบัติหน้าที่การรบ มอดทำหน้าที่กัดเจาะด้ามอาวุธ แมลงป่องและตะขาบกัดต่อยไพร่พลของพญาแถนจนเจ็บปวด ร้องระงมจนกองทัพระส่ำระสาย

พญาแถนจึงได้ยอมแพ้และตกลงทำสัญญาสงบศึกกับพญาคางคก ดังนี้
 
๑. ถ้ามวลมนุษย์จุดบั้งไฟขึ้นสู่ท้องฟ้าเมื่อใด ให้พญาแถนสั่งให้ฝนตกในโลกมนุษย์
๒. ถ้าได้ยินเสียงกบ เขียดร้อง ให้รับรู้ว่าฝนได้ตกลงมาแล้ว
๓. ถ้าได้ยินเสียงสนู (เสียงธนูหวายของว่าว) หรือเสียงโหวด ให้ฝนหยุดตกเพราะจะเข้าสู่ฤดูเก็บเกี่ยวข้าว หลังจากที่ได้ สัญญากันแล้ว พญาแถนจึงได้ถูกปล่อยตัวไปและได้ปฏิบัติตามสัญญามาจนบัดนี้
 
ปัจจุบันงานประเพณีบุญบั้งไฟ มีขึ้นในวันเสาร์ - อาทิตย์ ที่ ๒ ของเดือนพฤษภาคมของทุกปี ณ สวนสาธารณะพญาแถน โดยมีความเชื่อว่าเมื่อจัดงานนี้แล้วเทพยดาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายจะดลบันดาลให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล ทำให้พืชพันธุ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์
กิจกรรมที่สำคัญในประเพณีบุญบั้งไฟนี้ประกอบด้วย
 
วันแรก จะมีการจัดขบวนแห่บั้งไฟ ตกแต่งไปตามถนนภายในเขตเทศบาลเมือง การประกวดธิดา บั้งไฟโก้ การจัดงานเลี้ยงพาข้าวแลง และการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นเมือง
วันที่สอง จะมีการแข่งขันการจุดบั้งไฟ
 
บั้งไฟแต่ละอันที่มาเข้าขบวนแห่ จะถูกตกแต่งประดับประดาอย่างสวยงามด้วยลวดลายไทย สีทอง ว่ากันว่าศิลปะการตกแต่งบั้งไฟนี้ นายช่างจะต้องสับ และตัดลวดลายต่าง ๆ นี้ไว้เป็นเวลาแรมเดือน แล้วจึงนำมาทากาวติดกับลูกบั้งไฟ ส่วนหัวบั้งไฟนั้นจะทำเป็นรูปต่าง ๆ ส่วนมากนิยมทำเป็นรูปหัวพญานาคอ้าปากแลบลิ้นพ่นน้ำได้ บ้างก็ทำเป็นรูปอื่น ๆ แต่ก็มีความหมายเข้ากับตำนานในการขอฝนทั้งสิ้น ตัวบั้งไฟจะนำไปตั้งบนฐาน ใช้รถหรือเกวียนเป็นพาหนะนำมาเดินแห่ตามประเพณี
บั้งไฟที่จัดทำให้มีหลากชนิด คือ มีทั้งบั้งไฟกิโล บั้งไฟหมื่น และบั้งไฟแสน บั้งไฟกิโลนั้นหมายถึง น้ำหนักของดินประสิว ๑ กิโลกรัม เมื่อตกลงกันว่าจะทำบั้งไฟขนาดไหนก็หาช่างมาทำ หรือที่มีฝีมือก็ทำกันเอง ช่างที่ทำบั้งไฟนั้นสำคัญมาก ช่างจะต้องเป็นผู้มีฝีมือในการคำนวณผสมดินประสิวกับถ่านไม้ เพราะถ้าไม่ถูกสูตรบั้งไฟก็จะแตก คือ ไม่ขึ้นสู่ท้องฟ้า สำหรับไม้ที่จะนำมาทำเสาบั้งไฟนั้น จะตัดเอาแต่ที่โคนต้น เพราะมีความหนาและเหนียว ความยาวนั้นแล้วแต่จะตกลงกัน ในวันรุ่งขึ้นเป็นการจุดบั้งไฟ จะมีการแบกบั้งไฟไปยังฐานยิงในที่โล่ง ถ้าบั้งไฟของใครจุดแล้วยิงไม่ขึ้น คนทำจะถูกจับโยนลงในโคลน ซึ่งเป็นธรรมเนียมประเพณีที่ปฏิบัติสืบกันมา

งานประเพณีบุญบั้งไฟ เป็นงานประเพณีไทยท้องถิ่นของชาวอีสาน ที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิต และ ความเชื่อทางศาสนาของชาวอีสานมาช้านาน โดยเฉพาะชาวนาที่มีวิถีชีวิตผูกพันกับการทำนามาช้านาน ต้องอาศัยข้าวในการเลี้ยงและ ดำรงชีวิตมาโดยตลอด น้ำฝนจากฟ้าจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ประเพณีบุญบั้งไฟ จึงเป็นพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ งานประเพณีบุญบั้งไฟจึงถูกสร้างสรรค์ขึ้นมาเพื่อเป็นความหวัง และกำลังใจของชาวอีสาน
 
ที่มา ประเพณีไทยท้องถิ่น จังหวัดยโสธร - วิถีชีวิต ประเพณีบุญบั้งไฟ
 
ประเพณีไทย ประเพณีตีคลีไฟ จังหวัดชัยภูมิ
 
ประเพณีตีคลีไฟ เป็นประเพณีไทยจากภูมิปัญญาท้องถิ่น จัดให้มีขึ้นมาแต่โบราณ โดยได้แนวคิด มาจากการตีคลีของพระสังข์กับพระอินทร์ในวรรณคดี เรื่อง สังข์ทอง การตีคลีไฟเป็นวิธีการแก้ปัญหาการขาดเครื่องนุ่งห่มในสมัยก่อน หน้าหนาวจะหนาวมาก พวกผู้ชายจะออกมาที่สนามหน้าลานบ้านแล้วมาร่วมเล่นตีคลีไฟกับพวกผู้หญิง ๆ จะเป็นผู้เผาลูกคลีไฟ ทำให้หายหนาวได้ และเป็นการสร้างความสามัคคีให้ แก่คนในหมู่บ้านอย่างชาญฉลาด โดยการตีคลีไฟ เป็นหนึ่งในประเพณีไทยเพื่อการสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรม ให้การเล่นดังกล่าว ได้รับการถ่ายทอดจากคนรุ่นหลัง ผู้เป็นต้นเค้าการเล่นครั้งแรก คือ นายหล้า วงษ์นรา ผู้ใหญ่บ้านหนองเขื่อง ตำบลกุดตุ้ม อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ เริ่มเล่นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๘ ซึ่งเป็นปีแรกที่ตั้งหมู่บ้านหนองเขื่อง ที่เพิ่งแยกตัวมาจากบ้านกุดตุ้ม และสืบสานต่อคนหนุ่มในบ้านหนึ่ง ไปยังอีกหมู่บ้านหนึ่ง ถือว่าตีคลีไฟ เป็นประเพณีของหลายหมู่บ้าน ในละแวกเดียวกัน ใช้เชื่อมความสัมพันธ์ของคนในหมู่บ้าน และได้สืบสานต่อเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้รัก และอนุรักษ์กีฬาตีคลีลูกไฟ ซึ่งจะเล่นกันในฤดูหนาว ช่วงพระอาทิตย์ลับฟ้า และเพื่อให้เกิดความ สวยงาม และช่วยให้ร่างกายอบอุ่น ถือเป็นการวัดใจของผู้ชายอย่างแท้จริง เพราะเป็นความสมัครใจในการเล่น
 
 
 
 
ตีคลีไฟเป็นประเพณีไทย ที่เล่นกันช่วงฤดูหนาวหลังออกพรรษา ประกอบด้วยผู้เล่นข้างละ ๑๑ คน ชาวบ้านจะใช้ไม้จากต้นหนุนแห้งมาตัดเป็นท่อนแล้วเผาไฟจนกลายเป็นถ่าน ให้ผู้เล่นใช้ไม้ซึ่งทำจากไม้ไผ่หัวขวานลักษณะคล้ายไม้กอล์ฟ ตีเข้าประตูของฝ่ายตรงข้าม ทีมใดที่สามารถตี ลูกคลีไฟเข้ามากกว่าจะเป็นฝ่ายชนะ ซึ่งชาวบ้านหนองเขื่อง จะเล่นกันมานาน เป็นกีฬาพื้นบ้านที่จัดให้มีการแข่งขันในช่วงเทศกาลออกพรรษา ของทุกปี ซึ่งนับเป็นประเพณีไทยอีกหนึ่งการละเล่นที่สามารถรับชมได้ที่ บ้านหนองเขื่อง ต.กุดตุ้ม อ.เมือง จ.ชัยภูมิ แห่งเดียวเท่านั้น
 
 
 
 
 
เรื่องราวเริ่มต้นของประเพณีตีคลีไฟ เกิดขึ้นเพราะความบังเอิญ โดยสมัยก่อนจะมีการก่อกองไฟแก้หนาวในช่วงพลบค่ำ วันหนึ่งระหว่างที่มีการเล่นตีคลี บังเอิญลูกคลีเกิดกลิ้งเข้าไปในกองไฟแล้วติดไฟ แต่ด้วยความสนุกและไม่อยากหยุดเล่น ชาวบ้านจึงตีคลีกันต่อทั้งที่ติดไฟ แต่พอตีแล้วเห็นเป็นแสงไฟสวยงาม ทำให้ถูกนำมาเล่นกันเป็นประจำ
ประเพณีไทย ต่าง ๆ ที่กล่าวยกมานี้ ล้วนเป็นสิ่งที่มีคุณค่า แฝงเร้นไปด้วยกุศโลบาย ไม่ว่าจะเป็นการเชื่อมโยงความรักความสามัคคีของคนในท้องถิ่น และหมู่บ้านใกล้เคียง ตลอดจนเป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์งานด้านศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น ให้กับประชาชนทั่วไป และชาวต่างชาติ อีกทั้งยังช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ในช่วงเทศกาลงานบุญประเพณีได้อีกทางหนึ่งด้วย
 
ประเพณีไทย ประเพณีผีตาโขน จังหวัดเลย
 
การละเล่นผีตาโขน เป็นประเพณีไทยที่สำคัญและมีมานานแล้วแต่ไม่มีหลักฐานปรากฎแน่ชัดว่ามีมาตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่ชาวบ้านได้ปฏิบัติและสืบทอดต่อกันมาจากบรรพบุรุษ เป็นประเพณีไทยที่เป็นเอกลักษณ์ ประเพณีแห่ผีตาโขนจัดเป็นส่วนหนึ่งในงานบุญประเพณีไทยใหญ่หรือที่เรียกว่า "งานบุญหลวง" หรือ "บุญผะเหวด" ซึ่งตรงกับเดือน 7 มีขึ้นที่อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย และจัดเป็นการละเล่นที่ถือเป็นประเพณีทุกปี เกี่ยวโยงกับ งานบุญพระเวสหรือเทศน์ มหาชาติ ประจำปีกับพระธาตุศรีสองรัก ปูชนียสถานสำคัญของชาวด่านซ้าย
 
 
 
 
 
มีเรื่องเล่าถึงการแห่ผีตาโขนว่า เกิดขึ้นเมื่อครั้งที่พระเวสสันดรและนางมัทรีจะเดินทางออกจากป่ากลับสู่เมือง บรรดา ผีป่าหลายตนและสัตว์นานาชนิดอาลัยรักจึงพาแห่แหนแฝงตัวแฝงตน มากับชาวบ้านเพื่อมาส่งทั้งสอง พระองค์ กลับ เมือง "ผีตามคน" หรือ "ผีตาขน" จนกลายมาเป็น "ผีตาโขน" อย่างในปัจจุบัน

การละเล่นผีตาโขนจะมีการจัดทำพิธี ๒ วัน คือ วันแรก (วันโฮม) ขบวนผีตาโขนจะแห่รอบหมู่บ้านตั้งแต่เช้ามืด เป็นการทำพิธีอัญเชิญพระอุปคุตเข้ามาอยู่ที่วัด ในวันที่สองเป็นพิธีการแห่พระเวสสันดรและนางมัทรีเข้าเมือง โดยสมมุติให้วัดเป็นเมือง สำหรับวันที่สองของงานนี้ ชาวบ้านยังได้นำบั้งไฟ มาร่วมในขบวนแห่เพื่อเป็นพิธีขอฝนโดยแห่รอบวัด ๓ รอบ ในขณะที่แห่อยู่นั้นเหล่าผีตาโขนทั้งหลายก็จะละเล่นหยอกล้อผู้คนไปเรื่อย ๆ เพื่อทำให้เกิดความสนุกสนาน หลังจากเสร็จพิธีการแห่ แล้วบรรดาผู้ละเล่นผีตาโขนจะนำเครื่องเล่นผีตาโขน และอุปกรณ์ที่ใช้ในการประกอบพิธีไปล่องลงแม่น้ำหมัน และในตอนค่ำของวันเดียวกัน จะมีการฟังเทศน์มหาชาติทั้ง ๑๓ กัณฑ์
 
การละเล่นผีตาโขนนับว่าเป็นประเพณีไทยที่แปลกสำหรับผู้พบเห็น เพราะมีการนำเอาก้านทางมะพร้าวที่แห้งนำมาตกแต่งเป็นหน้ากาก โดยการเจาะช่องตา จมูก ปาก และใบหู นำเอาหวดนึ่งข้าว โดยกดดันหวดให้เป็นรอยบุ๋มหงายปากหวดขึ้น เพื่อสวมศีรษะแต่งแต้มสีสันให้น่าดู ส่วนชุดที่สวมใส่ทำมาจากเศษผ้าหลากหลายสีมาเย็บต่อกัน อุปกรณ์ในการละเล่นมี ๒ ชิ้น คือ "หมากกระแหล่ง" มีไว้เพื่อเขย่าทำให้เกิดเสียงดังในเวลาเดิน และ "อาวุธประจำกาย" ผีตาโขนส่วนมาก จะใช้ผู้ชายแสดงเนื่องจากต้องกระโดดโลดเต้นไปเรื่อย ๆ จึงไม่เหมาะที่จะใช้ผู้หญิงเป็นตัวแสดง นอกจากเข้าร่วมในงาน "บุญหลวง" ยังได้เข้าร่วมขบวนแห่ในวันเปิดงานกาชาด ดอกฝ้ายบานมะขามหวานเมืองเลย โดยขบวนผีตาโขนจะเดินรอบเมืองเพื่อโชว์ให้แขกบ้านแขกเมืองได้เห็น
 
ประเพณีผีตาโขนเป็นประเพณีประจำปีของ จังหวัดเลย เป็นประเพณีไทยใหญ่ "บุญหลวง" ซึ่งเป็นการรวมเอาบุญผะเหวดและบุญบั้งไฟ เป็นบุญเดียวกัน เพื่อเป็นการบูชาอารักษ์หลักเมือง และพิธีการบวงสรวงดวงวิญญาณอันศักดิ์สิทธิ์ของเจ้าในอดีต ซึ่งจะมีขึ้นในช่วงเดือน พฤษภาคม-มิถุนายน ของทุกปี
ที่มา: แนะนำประเพณีไทยท้องถิ่น วิถีชีวิต จังหวัดเลย

5 ความคิดเห็น:

  1. ทำให้เห็นถึงความหลากหลายของประเพณีที่เรารู้จักและไม่รู้จัก

    ตอบลบ
  2. ประเพณีไทยงดงามมากเลยค่ะ

    ตอบลบ
  3. ประเพณีไทยงดงามมาก

    ตอบลบ
  4. มีประเพณีที่หลากหลายมากค่ะ

    ตอบลบ