วันอาทิตย์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ประเพณีไทยภาคใต้

เทศกาลโคมไฟสีสันเมืองใต้ โคมไฟหาดใหญ่ ปี 2556 เริ่มแล้ว


เทศกาลโคมไฟสีสันเมืองใต้ “สีแสงแห่งวัฒนธรรม” ประเพณีไทยภาคใต้ของหาดใหญ่ การจัดแสดงโคมไฟดูสวยงามในยามค่ำคืน อีกทั้งยังมีการสร้างโดมน้ำแข็งที่ภายในประดับด้วยโคมไฟสีสันต่างๆ ที่เข้ากันกับประติมากรรมน้ำแข็ง ขยายพื้นที่จัดแสดงกว้างขึ้นด้วยโคมไฟ 23 ชุด ด้าน“หาดใหญ่ไอซ์โดม Hatyai Ice Dome Season 4 ไม่น้อยหน้าขนช่างจากฮาร์บินเนรมิตประติมากรรมน้ำแข็งสวยสดงดงาม เปิดให้เข้าชมพร้อมกันแล้วตั้งแต่วันนี้ เชื่อนักท่องเที่ยวแน่นขนัดกว่าทุกปี
 
 
 




เทศบาลนครหาดใหญ่ ร่วมกับ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จัดงาน เทศกาลโคมไฟสีสันเมืองใต้ ครั้งที่ 7(Hatyai Lantern Festival) ภายใต้ความสวยงามของ สีแสงแห่งวัฒนธรรม พร้อมกับสุดยอดการแสดงประติมากรรมโคมไฟน้ำแข็งฝีมือช่างระดับโลกจากเมืองฮาร์บิน หาดใหญ่ไอซ์โดม Hatyai Icedome season 4 โดยการจัดแสดงเทศกาลโคมไฟสีสันเมืองใต้ ครั้งที่ 7 (Hatyai Lantern Festival) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 24 ธันวาคม 2555 - 30 เมษายน2556 โดยเปิดให้บริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 17.00 - 21.00 น. ณ สวนสาธารณะเทศบาลนครหาดใหญ่ เปิดให้ ชมฟรี พื้นที่จัดแสดงเริ่มต้นจากบริเวณหน้าลานพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่5 จนถึงบริเวณเชิงสะพานศาลากลางน้ำ ซึ่งถือว่าเป็นการจัดโซนการแสดงในพื้นที่ใหม่ เพื่อรองรับการนำเสนอโคมไฟสีสันในหลากหลายรูปแบบที่แปลกตากว่าในทุกๆ ปีที่ผ่านมา อาทิ การแสดงโคมสีโคมไฟสไตล์จื้อกง โคมไฟสไตล์จีน โคมไฟสไตล์ญี่ปุ่น และโคมไฟสไตล์อิตาลี ซึ่งแบ่งการจัดแสดงในรูปแบบต่างๆ อาทิ ซุ้มประตูมังกรสวรรค์ ปิรามิตแห่งคชสาร มั่งมีศรีสุข เหลือกินเหลือใช้(ปลาหลีฮืออัน) , บุตรมังกรทั้ง9 ฮกลกซิ่วเทพเจ้าแห่งความสมบูรณ์ โคมร้อยสกุลแซ่ หิมพานต์เหรา(พญานาคมีขา) พระพิฆเนศวร กวนอิมข้ามสมุทร รถม้าแห้งเทพ ฯลฯ

เทศกาลโคมไฟสีสันเมืองใต้โคมไฟหาดใหญ่ ยังมีอีกหนึ่งความสวยงามของสีสันแห่งโคมไฟ ภายใต้อุณหภูมิติดลบ15องศาเซลเซียล กับเทศกาลโคมไฟน้ำแข็ง หาดใหญ่ไอซ์โดม Hatyai Ice Dome Season ที่กลับมาพร้อมความมหัศจรรย์แห่งโลกน้ำแข็งที่ยกฮาร์บิ้นมาสู่สายตาชาวไทยอีกครั้ง กับผลงานการแกะสลัก ของช่างจีนกว่า 30 ชีวิต ที่จัดแสดงผลงานอันสะท้อนถึงจินตนาการ ภายใต้สีสันของก้อนน้ำแข็งรูปแบบต่างๆ อันสื่อถึงสัมพันธภาพของกลุ่มอาเซียน ความสวยงามของโลกใต้ทะเล โลกของเด็ก และโลกแห่งยุคดึกดำบรรพ์ ซึ่งจะจัดแสดงทุกวัน ตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2555 ถึง 31 สิงหาคม 2556 เวลา 10.00-20.00 น. ณ อาคารจัดแสดง Hatyai Ice dome สวนสาธารณะเทศบาล นครหาดใหญ่ ที่เดียวที่ทุกท่านจะได้พบกับความตื่นตาตื่นใจของโคมไฟน้ำแข็งหลากหลาย รูปแบบสุดอลังการที่เดียวในประเทศไทย อีกทั้งทางเทศบาลนครหาดใหญ่ได้จัดให้มีสัญลักษณ์ หงส์คู่มังกร เพื่อร่วมเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ กับสัญลักษณ์คู่ของกษัตริย์อีกด้วย และร่วมเต็มอิ่มไปกับความงามของประติมากรรมน้ำแข็งในพื้นที่กว่า 1,700 ตารางเมตร และชมความสวยงามของโคมไฟหลากสีสัน ในงาน เทศกาลโคมสีสันเมืองใต้ ครั้งที่ 7 และเทศกาลโคมไฟน้ำแข็ง Hatyai Ice Dome Season 4 ณ สวนสาธารณะเทศบาลนครหาดใหญ่ สวนแห่งความสุข

 
 
ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ จังหวัดนครศรีธรรมราช
การจัดงานประเพณี “แห่ผ้าขึ้นธาตุ” เป็นประเพณีไทยที่เป็นสัญลักษณ์ประจำเมืองนครศรีธรรมราช ทั้งนี้เพราะในโลกมีการยึดถือและปฏิบัติกันที่เมืองนครศรีธรรมราชแห่งเดียวเท่านั้น แต่เดิมจัดขึ้นปีละ 2 ครั้ง คือวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 หรือวัน “มาฆบูชา” และในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 หรือวัน “วิสาขบูชา” แต่ในระยะหลัง ๆ ชาวพุทธจะนิยมมาร่วมแห่ผ้าขึ้นธาตุในวันมาฆบูชามากกว่าในวันวิสาขบูชา ทางจังหวัดจึงหันมาเน้นการจัดงานประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุในวันมาฆบูชาเป็นหลัก เรียกว่าประเพณี “มาฆบูชา แห่ผ้าขึ้นธาตุ” มาจนถึงปัจจุบัน
 
 
 
 
 
 
ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ ของเมืองนครคงจะเกิดขึ้นด้วยเหตุที่ชาวนครเริ่มรับพุทธศาสนามาจากอินเดียก็รับเอาประเพณีต่าง ๆ ตามแบบของชาวพุทธในอินเดียเข้ามาด้วย โดยมักจะยึดถือกันถือกันว่า หากจะทำบุญหรือกราบไหว้บูชาให้ได้กุศลจริง ๆ จะต้องปฏิบัติเฉพาะพระพักตร์พระองค์ หรือใกล้ชิดพระพุทธองค์มากที่สุดเท่านั้น เมื่อพระพุทธองค์เสด็จเข้าสู่ปรินิพานแล้ว แต่ยังมีตัวแทนอยู่ เช่น เจดีย์ และพระพุทธรูป เป็นต้น การ กราบ ไหว้ บูชาสิ่งเหล่านี้ย่อมเท่ากับบูชากราบไหว้พระพุทธองค์

แต่เดิมการแห่ผ้าขึ้นธาตุจะนัดหมายโดยพร้อมเพรียงกันเป็นขบวนใหญ่ แต่ในปัจจุบันการเดินทางสะดวกขึ้น ผู้คนที่ศรัทธาก็มาจากหลายทิศทาง ต่างคนต่างคณะก็เตรียมผ้ามาห่มพระธาตุ ใครจะตั้งขบวนแห่ผ้าขึ้นธาตุในเวลาใดก็สุดแต่ความสะดวก ขบวนแห่ผ้าขึ้นธาตุจึงมีตลอดทั้งวันโดยไม่ขาดสาย เดิมขบวนแห่ผ้าขึ้นธาตุทุกขบวนนิยมใช้ดนตรีพื้นบ้านนำหน้าขบวน ได้แก่ ดนตรีหนังตะลุง ดนตรีโนรา แต่ในปัจจุบันเปลี่ยนมาเป็นกลองยาว บรรเลงจังหวะที่ครึกครื้น เพื่อช่วยให้เกิดความเพลิดเพลิน ขบวนแห่ผ้าขึ้นธาตุจะเดินเป็นแถวเรียงเป็นริ้วยาวไปตามความยาวของผืนผ้า ทุกคนชู (เทิน) ผ้าพระบฏไว้เหนือศีรษะ ทั้งนี้เพราะความเชื่อกันว่าพระบฏเป็นเครื่องสักการะพระพุทธเจ้า จึงควรถือไว้ในระดับสูงกว่าศีรษะ
 
 
 
 
การที่ชาวนครนำเอาผ้าไปแบูชาพระบรมธาตุเจดีย์ โดยการโอบรอบองค์พระบรมธาตุเจดีย์ (ซึ่งชาวนครเรียกว่า " แห่ผ้าขึ้นธาตุ")เช่นนี้คือการบูชาที่สนิทแนบกับองค์พระพุทธองค์นั่นเอง ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุของเมืองนครเป็นประเพณีที่มีมานานจนยากที่จะยืนยันได้แน่ชัดว่าเริ่มในสมัยใด ตามตำนานจองประเพณีนี้มีว่า ในสมัยอาณาจักรศรีวิชัย ราว พ.ศ.1773 เป็นสมัยที่พระเจ้าสามพี่น้อง คือพระเจ้าศรีธรรมโศกราช พระเจ้าจัทรภาณุ และพระเจ้าพงษาสุระ กำลังดำเนินการสมโภชพระบรมธาตุเจดีย์อยู่นั้นคลื่นได้ซัดผ้าแถบใหญ่ชิ้นหนึ่งซึ่งมีลายเขียนเรื่องพระฑุทธประวัติ เรียกว่า "พระบฏ" ขึ้นที่ชายหาดปากพนัง ก่อนที่จะถึงวันสมโภชพระบรมธาตุเจดีย์ไม่นาน ชาวปากพนังเก็บผ้านั้นไปถวายพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช พระเจ้าศรีธรรมโศกราชรับสั่งให้ซักพระบฏจนสะอาด แต่ลายเขียนพระพุทธประวัติไม่ลบเลือน ยังคงสมบูรณ์ดีทุกประการ จึงรับสั่งให้ประกาศหาเจ้าของ ผ้าพระบฏเป็นผ้าซึ่งเขียนเรื่องราวพุทธประวัติ ปัจจุบันการทำผ้าพระบฏ เป็นการยากและต้นทุนสูง จึงใช้เป็นผ้าขาว ผ้าเหลือง ผ้าแดง จะตระเตรียมผ้าขนาดความยาวตามความศรัทธาของตน เมื่อไปถึงวัดก็จะนำผ้ามาผูกต่อกันเป็นขนาดยาวที่สามารถห่มพระธาตุรอบองค์ได้

ประเพณีแห่พระบฏขึ้นธาตุของหมู่ประชาชนยังทำสืบกันมา แต่แยกเป็นต่างกลุ่มต่างทำ คือ พระบฏกลายเป็นผ้าขาว ผ้าเหลือง ผ้าแดงสุดแต่จะชอบ และไม่มีการเขียนรูปพระพุทธประวัติ เนื่องจากช่างเขียนไม่คิดค่าจ้าง การเรียกชื่อประเพณีก็จะไม่มีคำว่า "พระบฏ" ไปจนในที่สุดก็คงเหลือเพียง "แห่ผ้าขึ้นธาตุ" เป็นพุทธบูชา การแห่ก็มีเพียงช่วยกันจับชายผ้า เทินผ้า ไปตามถนน ไม่มีสำรับคับค้อน ไม่มีกระบุง กระจาด ของสด ของแห้ง บางขบวนก็ตั้งขบวบ ไปวัดพระธาตุฯ อย่างเงียบ ๆ พอเป็นพิธี แต่ละคน แต่ละคณะต่างเตรียมผ้าขึ้นธาตุไม่พร้อมเพรียงกัน แล้วแต่สะดวก ตลอดวันมีขบวนแห่ผ้าขึ้นธาตุไม่ขาด
 
 
ประเพณีมาแกปูโล๊ะและมาแกแตประเพณีชาวไทยมุสลิม
ประเพณีมาแกปูโล๊ะเป็นประเพณีไทยดั้งเดิมของชนชาวมลายูท้องถิ่นในสามจังหวัดชานแดนภาคใต้ที่มีการสืบทอดกันมาช้านาน ตั้งแต่วัฒนธรรมดั้งเดิมของศาสนาพราหมณ์ที่มีอิทธิพลต่อท้องถิ่นมลายูก่อนที่จะรับเอาศาสนาอิสลามในเวลาต่อมา ช่วงที่ยังนันถือศาสนาพราหมณ์นั้นในการจัดงานแต่ละครั้งจะมีวัฒนธรรมและพิธีกรรมที่ไม่เหมือนกับปัจจุบัน ส่วนใหญ่แล้วจะนับถือพวกผี เทวดา เจ้าที่ เจ้าทาง พิธีกรรมบางอย่างจะอยู่ในรูปของการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ เมื่อศาสนาอิสลามเข้ามีบทบาทมากขึ้นมีการเผยแพร่ศาสนากระจายในวงกว้างขึ้น และมีอิทธิพลต่อคนในพื้นที่มาก ซึ่งได้สอนถึงการนับถือพระจ้าองค์เดียว (อัลลอฮฺ) เท่านั้น เมื่อเวลาผ่านไปทำให้ประเพณีบางอย่างในอดีตค่อยๆหายไปเพราะเป็นสิ่งที่ขัดต่อหลักการของอิสลาม (ซิริก) แต่ไม่ใช่ว่าสูญหายไปแต่จะถูก ปรับ เปลียนอย่างไรจึงจะสามารถดำเนินอยู่ได้ในชุมชนมุสลิมบางชุมชนถึงทุกวันนี้ได้ และจากที่วัฒนธรรมเปลี่ยนแปลงไปทำให้ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ของคนในสังคนนั้นอย่างไร
 
 
 
 
 
 
มาแกปูโล๊ะเป็นภาษามลายูท้องถิ่นของ 3 จังหวัดภาคใต้ ตรงกับภาษาไทยว่า "กินเหนียว" มาแกปูโละเป็นประเพณี "กินเลี้ยง" ของท้องถิ่น นิยมทำกันทั้งชาวพุทธและชาวมุสลิมภาคใต้ ในกลุ่มของชาวมุสลิมนั้น "มาแกปูโละ" หมายถึงงานกินเลี้ยงใน งานแต่งงาน งานเข้าสุหนัด หรือเพื่อหาเงินกิจกรรมอะไรสักอย่างก็ได้ แต่สำหรับชาวไทยพุทธหมายถึงงานเลี้ยงแต่งงานอย่างเดียว ความจริงเมื่อไปในงานนี้แล้ว ไม่ได้ไปกินข้าวเหนียว หากแต่ไปกินข้าวเจ้าเหมือนงานกินเลี้ยง ทั่วไป สันนิษฐานว่า เดิมคงกินข้าวเหนียวกันจริง ๆ แต่เหตุการณ์และสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไปจน กลายเป็นข้าวเจ้า แต่ชาวบ้านก็ยังคงเรียกว่ากินเหนียวอยู่
ในท้องถิ่นมลายูในจังหวัดชายแดนใต้มีการเรียกงานมาแกปูโล๊ะที่แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับแต่ละงาน เช่น งานดุหรี งานมาแกแต งานมาแกปูโล๊ะ งานแบะเวาะห์ หรือกินเหนียวและกินบุญของชาวไทยพุทธนั้นเอง และอีกความหมายหนึ่งนั้นหมายถึง เป็นการตั้งคำถามกับหนุ่มสาวว่าเมื่อไหรจะมาแกปูโล๊ะกับเขาบ้าง( เมื่อไหรจะมีงานแต่งงานเป็นของตนเอง )
คำว่า "กินเหนียว" ในกลุ่มชาวพุทธมักจะหมายถึงงาน "แต่งงาน" มากกว่างานอย่างอื่น เช่น บ้านใดมีลูกสาวหรือลูกชายควรแก่วัยจะมีเหย้ามีเรือนได้แล้ว ก็มะมีคนถามว่า "บ้านนี้เมื่อไร จะได้กินเหนียว" การกินเหนียวในกลุ่มชาวพุทธ แขกได้กินเหนียวจริง ๆ กล่าวคือ หลังจาก รับประทานอาหารคาวซึ่งจะมีอาหารชนิดต่างๆ เสร็จแล้ว เจ้าของงานจะถอนชามกลับ แล้วยกเอา "ข้าวเหนียว" มาเลี้ยงต่อ "ข้าวเหนียว" ที่ได้รับประทานกันในงานแต่งงาน มีหลายแบบ เช่น เหนียว สีขาวธรรมดาหรือสีเหลืองคู่กับสังขยา หรือมะพร้าวผัดกับน้ำตาลเรียกว่า "หัวเหนียว" บางแห่งก็ใช้ ข้าวเหนียวแก้ว บางแห่งใช้กะละแมเป็นหัว ถ้าเป็นสมัยก่อนลงไปอีกหน่อย แขกสตรีเมื่อไปช่วยงาน จะเอาข้าวสาร ขมิ้น พริกขี้หนู กระเทียม ตลอดจนเครื่องครัวอื่น ๆ ใส่ "หม้อเหนียว" ไปช่วยงานแทน เงิน กรณีนี้เจ้าของงานจะต้องห่อข้าวเหนียวใส่ "หม้อเหนียว" กลับไปให้เจ้าของหม้ออีกด้วย แต่ โดยทั่วไปแล้ว สำหรับแขกสตรีแม้ไม่มี "หม้อเหนียว"ไปก็จะได้รับห่อข้าวเหนียวกลับบ้านเสมอ
 
อาหารที่นิยมมาจัดเลี้ยงในงานมาแกปูโล๊ะ

อาหารที่นิยมเลี้ยงในงานมา แกปูโล๊ะก็จะเป็นอาหารธรรมดา เช่น พะแนงเนื้อ มัสมั่น กอและ คั่วเนื้อ นาสิกราบู (ข้าวยำ) ขนมจีนเป็นต้น ในชนบทจริง ๆ เครื่องเคียงอีกอย่างหนึ่งซึ่งจะขาดไม่ได้ คือ "ษมา" พริกตำกับเกลือ ปรุงรสให้อร่อยมีสีแดงน่ารับประทาน) สำหรับในตัวเมืองอาหารก็พิสดารไปตามความนิยม ถ้า ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ได้รับเชิญไปในงาน กับข้าวที่ต้อนรับก็จะจัดกันพิเศษไปจากการต้อนรับแขก ทั่วไป ถือว่าเป็นการให้เกียรติกันเป็นพิเศษ
ประเพณีมาแกแต เป็นภาษามลายูท้องถิ่น แปล่ว่า กินน้ำชา เป็นประเพณีที่ปฏิบัติกันอยู่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้
 
ประเพณีมาแกแต หรือกินน้ำชา ไม่ใช่วัฒนธรรมทางศาสนาอิสลาม แต่เป็นเรื่องที่สังคมในท้องถิ่นคิดจัดขึ้นมาเอง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการหาเงิน เนื่องในกรณีต่างๆเช่น
 
1. หาเงินเพื่อสร้างโรงเรียน มัสยิด สุเหร่า ศาลา ฯลฯ ซึ่งเป็นศาสนสถานต่างๆ
 
2. หาเงินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปเมกกะฮฺ ซึ่งไม่ใช่บัญญัติของศาสนา
 
3. หาเงินไปใช้จ่ายในกรณีต่างๆ เช่น ขับรถยนต์ชนคน ชำระหนี้สิน ซื้อปืน หรือถูกจับในข้อหาต่างๆ

สำหรับชุมชนบางตาวานั้นนอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้นนั้นยังมี มาแกแต กรณีลูกต้องไปเกณฑ์ทหารแต่ผู้ปกครองไม่อยากให้ไปอาจจะด้วยเหตุผลต่างๆ จึงต้องการจ่ายเพื่อให้ลูกพ้นจากที่ต้องไปเกณฑ์ทหาร และยังมีกรณีเรือล้มด้วย
ที่มา truepanya.muslimthaipost.com
 
 
 
งานประเพณีลอยเรือชาวเล ประเพณีไทยภาคใต้
ประเพณีลอยเรือ หรือลอยเรือชาวเล เป็นประเพณีไทยภาคใต้ที่สำคัญอย่างหนึ่งของชาวเลทางของประเทศไทย ที่ยึดถือปฏิบัติและสืบทอดกันมาช้านาน โดยชาวเลมีความเชื่อว่าเป็นการสะเดาะเคราะห์เพื่อให้สมาชิกในหมู่บ้านรอดพ้น จากสิ่งที่ชั่วร้ายทั้งปวง ด้วยการขออำนาจจากผีหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำหมู่บ้านให้ช่วยขับไล่สิ่ง อัปมงคล และรวมทั้งเป็นพิธีกรรมที่แสดงถึงความขอบคุณที่ช่วยคุ้มครองให้พวกเขาได้ อยู่รอดปลอดภัยตลอดฤดูมรสุม โดยใช้เรือเป็นพาหนะบรรทุกสิ่งชั่วร้ายออกไป ปล่อยให้ไหลไปตามสายน้ำ
 
 
 
 
 
 
ชาวเล ถือว่าการลอยเรือเป็นประเพณีไทยสำคัญที่สุดในรอบปี นิยมจัดขึ้นปีละ 2 ครั้งๆ ละ 3วัน คือในวันขึ้น 14, 15 ค่ำ และแรม 1 ค่ำ ของเดือน 6 กับเดือน 11 ซึ่งอยู่ในช่วงฤดูมรสุม ส่วนวันลอยเรือชาวเลบางแห่งจะพากันไปเซ่นไหว้ผีหมู่บ้านก่อนเพื่อความเป็น สิริมงคล ส่วนในการต่อเรือพิธี หรือ ปลาจั๊ก ซึ่งทั้งหมู่บ้านจะต่อกันเพียงลำเดียว ไม้ที่ใช้ต่อเรือจะเป็นไม้เนื้ออ่อน ส่วนมากนิยมใช้ไม้ระกำ โดยเรือปลาจั๊กจะมีขนาดกว้าง 2 ฟุต ยาวประมาณ 6 ฟุต ตกแต่งลวดลายอย่างสวยงาม ใบเรือทำจากผ้าดิบ และยังมีการแกะสลักไม้ระกำ เป็นนายท้ายเรือ พายนำเครื่องใช้ประจำวัน อาทิ มีด ครก เสื้อผ้า รองเท้า ฯลฯ ใส่ไปในเรือด้วย จากนั้นเมื่อทำการต่อเรือเสร็จแล้ว ในตอนค่ำ ผู้นำครอบครัวจะนำตุ๊กตาที่แกะสลักเป็นรูปคนโดยแกะจากไม้ระกำ ตามจำนวนสมาชิกของครอบครัว พร้อมทั้งตัดเล็บมือ เล็บเท้า เส้นผมของทุกคนในบ้าน ตลอดจนของแห้ง เช่น กะปิ เกลือ หมาก พลู ที่เตรียมมาใส่ลงไปในเรือด้วย
 
 
 
 
 
 
ประเพณีลอยเรือชาวเล จะเริ่มโดยชาวเลทั้งหลายนำข้าวตอกดอกไม้และขนมไปวางบนหลาทวด แล้วจุดธูปเทียนอธิษฐาน เพื่อให้ดวงวิญญาณทวดมีความสุข และขอความเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง จากนั้นทุกคนจะเสี่ยงเทียน คืออธิษฐานขอให้เทียนเป็นเครื่องชี้บอกดวงชะตาของตนเองและครอบครัว พร้อมทั้งการประกอบอาชีพ คือ ถ้าการประกอบอาชีพและชีวิตครอบครัวราบรื่น ขอให้เปลวเทียนโชติช่วงสว่างไสว

ประเพณีลอยเรือ ก็คือ การลอยบาป และเป็นการเสี่ยงทายในการประกอบอาชีพ กล่าวคือ การลอยเรือเป็นเครื่องกำหนดว่า การประกอบอาชีพจะเจริญก้าวหน้าหรืออัตคัดขาดแคลน โดยดูจากเรือที่ลอยเป็นสำคัญ คือถ้าเรือออกไปแล้ว ลอยออกไปไม่ถูกคลื่นซัดเข้าหาฝั่งเดิม แสดงว่าชาวเกาะทั้งหลาย จะเป็นผู้โชคดี การประกอบอาชีพคือการจับปลา จะจับได้มาก การหากินจะไม่ฝืดเคือง แต่ถ้าเรือถูกคลื่นซัดเข้าหาฝั่ง จะเป็นเครื่องชี้ว่า การทำมาหากินจะฝืดเคือง ชาวเกาะจะประสบโชคร้าย จากภัยธรรมชาติหรืออาจจะประสบอุบัติเหตุถึงชีวิต ชาวเลเชื่อว่าการลอยเรือ จะเป็นเครื่องชี้ว่า การทำมาหากินจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จ

ภาพประกอบจาก phuket.go.th
นิกะห์ประเพณีการแต่งงานของชาวไทยมุสลิม
 
ประเพณีการแต่งงานในศาสนาอิสลาม คือการมอบความปรองดองรักใคร่ แก่กันและกัน การให้กำเนิดบุตร และการอยู่ร่วมกันอย่างผาสุข ตามพระบัญชาของพระอัลเลาะห์ ประเพณีแต่งงานของชาวไทยมุสลิม กำหนดหลักเกณฑ์การแต่งงานไว้อย่างชัดเจน และมุสลิมทุกคนจะต้องยึดถือปฏิบัติ พิธีนิกะฮ์จะเริ่มต้นเมื่อฝ่ายชายและฝ่ายหญิงตกลงใจจะใช้ชีวิตร่วมกัน โดยฝ่ายชายจะส่งผู้ใหญ่ไปสู่ขอ และตกลงเรื่องสินสอดทองหมั้น สำหรับสินสอดนั้น ตามแต่ทั้งสองฝ่ายจะตกลงกัน
ในยุคของศาสดามูฮัมหมัด (ซ็อลลอลลอฮูอะลัยฮิวะซัลลัม) ใช้เงินเปรียบเทียบเป็นเงินไทยจำนวน 125 บาท พร้อมคัมภีร์อัลกุรอาน 1 เล่ม เป็นสินสอดแก่ภรรยาของท่าน คู่สมรสชาวมุสลิมจึงยึดถือปฏิบัติกันต่อมาเพื่อเป็นมงคล พิธีนิกะฮ์นั้นอาจจะจัดขึ้นที่บ้านเจ้าสาว หรือที่มัสยิดก็ได้
 
 
 
 
 
ประเพณีแต่งงานของชาวไทยมุสลิม เรียกว่า นิกะห์ ("นิกะห์" เป็นคำภาษาอาหรับ มีความหมายว่า การทำพิธีแต่งงานภายใต้หลักเกณฑ์และข้อบังคับแห่งศาสนาอิสลาม") หลักเกณฑ์และข้อบังคับแห่งศาสนาอิสลามตามคัมภีร์อัลกุรอาน มีอยู่ห้าประการคือ
 
1. หญิงและชายต้องเป็นมุสลิมทั้งคู่ หลังแต่งงานไปแล้ว หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดตกศาสนา ความเป็นสามีภรรยาก็ถือเป็นอันสิ้นสุดไปด้วย การอยู่ร่วมกันหลังจากนั้นถือเป็นการผิดประเวณี
 
2. ผู้ชายต้องจัดหามะฮัรฺ (ของขวัญแต่งงาน) ให้แก่ผู้หญิงตามที่ผู้หญิงร้องขอ เมื่อทำพิธีแต่งงานทางศาสนาเสร็จ มะฮัรฺนี้จะเป็นของผู้หญิงครึ่งหนึ่งก่อน จนกว่าจะได้อยู่ด้วยกันโดยพฤตินัยแล้ว มะฮัรฺก็จะเป็นของผู้หญิงทั้งหมด
หากหลังพิธีแต่งงานแล้วคู่บ่าวสาวมิได้มีความสัมพันธ์ฉันสามีกันจริงๆ มะฮัรฺก็จะเป็นของผู้หญิงเพียงครึ่งเดียว
 
3. ต้องมีพยานเป็นชายมุสลิมที่มีคุณธรรมอย่างน้อย 2 คน
 
4. ต้องมีวะลี (ผู้ปกครอง)ของผู้หญิงให้อนุญาตแต่งงาน หากพ่อผู้หญิงมิใช่มุสลิม ไม่สามารถเป็นวะลีได้ ผู้หญิงจะต้องแต่งตั้งให้ใครเป็นวะลีทำหน้าที่ในพิธีแต่งงานให้ ทำพิธีเสร็จแล้ว ความเป็นวะลีโดยการแต่งตั้งก็เป็นอันจบไป
 
5. มีการเสนอแต่งงาน(อีญาบ)จากทางวะลีของฝ่ายหญิง และเจ้าบ่าวต้องกล่าวรับ(กอบูล)


ประเพณีแต่งงานของชาวไทยมุสลิม ประกอบด้วยการคุฏบ๊ะฮฺนิก๊ะฮฺ เสร็จแล้วก็ทำพิธีนิก๊ะฮฺตามหลักศาสนาโดยการกล่าวเสนอแต่งงานจากทางวะลีฝ่ายหญิง และฝ่ายชายตอบรับ เท่านั้นก็เป็นเสร็จพิธี
ส่วนงานเลี้ยงฉลองแต่งงานเราเรียกว่า "วะลีมะฮฺ" อิสลามส่งเสริมให้ทำเพื่อแสดงความยินดีและรื่นเริงเพราะเป็นโอกาสสำคัญ แต่งานเลี้ยงต้องไม่ฟุ่มเฟือย
การสู่ขอ เมื่อชายหญิงชอบพอกัน และผู้ปกครองเห็นสมควร ฝ่ายชายจะส่งผู้ใหญ่ไปสู่ขอกับพ่อแม่ของฝ่ายหญิง เรียกว่า มาโซะมีเดาะ มีการตกลงระหว่าง ผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่าย เกี่ยวกับสินสอดทองหมั้นและกำหนดวันหมั้น
 
พิธีหมั้น เมื่อถึงกำหนดฝ่ายชายจะจัดเถ้าแก่นำขบวนขันหมาก หรือพานหมากไปยังบ้านฝ่ายหญิง โดยผู้ที่เป็นเจ้าบ่าวไม่ได้ไปด้วย พานหมากมีสามพานคือ พานหมากพลู พานข้าวเหนียวเหลือง และพานขนม ต่อจากนั้นทั้งสองฝ่ายก็จะกำหนดวันแต่งงานและการจัดงานเลี้ยง ก่อนเถ้าแก่จะเดินทางกลับฝ่ายหญิงจะมอบผ้าโสร่งชาย (กาเฮงแปลก๊ะ) หรือผ้าดอกปล่อยชาย (กาเฮงมาเต๊ะลือป๊ะ) อย่างใดอย่างหนึ่ง และขนมของฝ่ายหญิงให้กลับเป็นการตอบแทนให้แก่ฝ่ายชาย
 
พิธีแต่งงาน วันแต่งงาน ขบวนเงินหัวขันหมากประกอบด้วยเจ้าบ่าว เพื่อนเจ้าบ่าว และญาติผู้ใหญ่ จะเดินทางไปยังบ้านเจ้าสาว ทางบ้านเจ้าสาวจะเชิญอิหม่าม คอเต็บ ทำพิธีแต่งงาน พร้อมสักขีพยานและผู้ทรงคุณธรรม (คุณวุฒิ) เมื่อขบวนขันหมากมาถึงบ้านเจ้าสาว เจ้าบ่าว จะมอบเงินหัวขันหมากให้แก่โต๊ะอิหม่าม ตรวจความถูกต้อง บิดาของเจ้าสาวจะไปขอความยินยอมจากเจ้าสาว (ขณะนั้นเจ้าสาวอยู่ในห้อง) โดยบิดาจะถามว่า พ่อจะให้ลูกแต่งงานกับ ?.(ชื่อเจ้าบ่าว) ลูกจะยินยอมหรือไม่ เจ้าสาวก็จะให้คำตอบยินยอมหรือไม่ยินยอม ถ้าไม่ยินยอมพิธีจะดำเนินต่อไปไม่ได้ ถือว่าผิดหลักศาสนา การถามตอบระหว่างพ่อ-ลูก จะต้องมีพยานสองคนคือ คอเต็บ หรือผู้ทรงคุณธรรมฟังอยู่ด้วย เมื่อเจ้าสาวตอบยินยอมก็จะดำเนินพิธีขั้นต่อไป จากนั้นบิดาเจ้าสาวก็วอเรา คือการกล่าวมอบหมายให้โต๊ะอิหม่ามเป็นผู้ประกอบพิธีแต่งงาน โดยการ บาจอกุฎตีเบาะ คืออ่าน กุฎยะฮ คืออ่านศาสนบัญญัติ เพื่ออบรมเกี่ยวกับการครองเรือน เสร็จแล้วจึงทำการ นิกะฮ คือการรับฝ่ายหญิงเป็นภรรยาต่อหน้าโต๊ะอิหม่าม และพยาน โต๊ะอิหม่ามจะจับปลายมือของเจ้าบ่าว แล้วประกอบพิธีนิกะฮ โดยกล่าวชื่อ เจ้าบ่าว แล้วกล่าวว่า ฉันได้รับมอบหมายจาก ?(ชื่อพ่อเจ้าสาว) ให้ฉันจัดการแต่งงานเธอกับ?(ชื่อเจ้าสาว) ซึ่งเป็นบุตรของ?(ชื่อพ่อเจ้าสาว) ด้วยเงินหัวขันหมากจำนวน ?..บาท
เจ้าบ่าวจะต้องตอบรับทันทีว่า ฉันยอมรับการแต่งงานตามจำนวนเงินหัวขันหมากแล้ว สักขีพยานกับผู้ทรงคุณธรรมกล่าวต่อบรรดาผู้มาร่วมงานในห้องนั้นว่า คำกล่าวของเจ้าบ่าวใช้ได้ไหม ถ้าผู้ร่วมงานตอบว่าใช้ได้ เป็นอันว่าการแต่งงานนั้นถูกต้องแล้วโต๊ะอิหม่าม จะบาจอดุอา หรือบาจอดอออ ขอพรจากพระผู้เป็นเจ้าเพื่อให้อัลเลาะห์ให้พรแก่คู่บ่าวสาว จบแล้วอิหม่ามจะบอกหลักของการเป็นสามีภรรยา แก่เจ้าบ่าวว่า ตามหลักศาสนานั้น ผู้เป็นสามีต้องเลี้ยงดูภรรยาและอยู่ร่วมกันตามหน้าที่ของสามีภรรยา จากนั้นมีการลงชื่อ โต๊ะอิหม่าม เจ้าบ่าว เจ้าสาว บิดาฝ่ายหญิง และพยานในหนังสือสำคัญเป็นหลักฐาน เป็นอันเสร็จพิธี
ตามหลักศาสนบัญญัติ ประเพณีแต่งงานชาวไทยมุสลิมกำหนดว่ามุสลิมจะต้องแต่งงานกับมุสลิมด้วยกันเท่านั้น กรณีที่เป็นคนต่างศาสนา จะต้องให้เข้ารับนับถือศาสนาอิสลามเสียก่อน การเข้ารับอิสลามจะต้องศึกษาเกี่ยวกับหลักศรัทธาและหลักปฏิบัติ พร้อมทั้งปฏิญาณตน กรณี ที่เป็นชาย ต้องทำคิตานหรือเข้าสุนัต หมายถึงการขริบหนังส่วนปลายที่หุ้มอวัยวะเพศด้วย ทั้งนี้ ก็เพื่อให้การปฏิบัติเป็นไปในทางเดียวกัน และเมื่อมีลูกด้วยกัน ลูกจะได้เริ่มนับถือในสิ่งที่ถูกต้อง
 
 
ประเพณีกวนขนมอาซูรอ ประเพณีท้องถิ่นของชาวไทยมุสลิม
ประเพณีกวนขนมอาซูรอ เป็นประเพณีพื้นบ้านของชาวไทยที่นับถือศาสนาอิสลาม คำว่า "อาซูรอ" เป็นภาษาอาหรับ หมายถึงวันที่ 10 ของเดือนมูฮรอม อันเป็นเดือนแรกของปฏิทินอาหรับ ชาวบ้าน นิยมกวนขนมอาซูรอกันในเดือนนี้ จึงเรียกกันว่า ขนมอาซูรอ
 
 
 
 
 
 
ขนมอาซูรอ เริ่มด้วยการที่เจ้าภาพประกาศเชิญชวนนัดหมายให้ผู้คนรู้กันทั่วว่าจะกวนขนมอาซูรอ ที่ไหน เมื่อใด พอถึงวันกำหนดนัด ชาวบ้านก็จะช่วยกันนำอาหารดิบ อันเป็นเครื่องปรุงชนิดต่าง ๆ มารวมกัน ผู้คนจะมามากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความสามารถของเจ้าภาพผู้เชิญชวน เมื่อได้ของมามาก พอแล้วก็จะช่วยกันกวน
คำว่า อาซูรอ แปลว่า การผสม การรวมกัน คือการนำสิ่งของที่รับประทานได้หลายสิ่งหลายอย่างมากวนรวมกัน มีทั้งชนิดคาวและหวาน การกวนข้าวอาซูรอจะใช้คนในหมู่บ้านมาช่วยกันคนละไม้คนละมือ เพื่อความสามัคคีและสร้างความพร้อมเพรียงเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน อันมีผลต่อการอยู่ร่วมกันของสังคมอย่างมีความสุข ก่อนจะแจกจ่ายให้รับประทานกัน เจ้าภาพจะเชิญบุคคลที่นับถือของชุมชนขึ้นมากล่าวขอพร (ดูอา) ก่อน จึงจะแจกให้คนทั่วไปรับประทานกัน
 
 
 
 
 
 
ประเพณีการกวนขนมอาซูรอเริ่มจากเจ้าภาพประกาศเชิญชวน ชาวบ้านว่าจะมีการกวนขนม เมื่อถึงวันนัดหมาย ชาวบ้านจะนำเครื่องปรุงขนมมารวมกันและช่วยกันกวน เมื่อเสร็จแล้วจะกล่าวขอพรพระเจ้า แล้วจึงแบ่งขนมไปกินกันขนมอาซูรอ จะแบ่งเป็น 2 ประเภทคือของคาวและของหวาน เครื่องปรุงของคาว ได้แก่เนื้อไก่ แป้ง เกลือ มัน พริกไทย กะทิและเครื่องสมุนไพรอื่นๆ แล้วแต่สูตรของแต่แหล่ง ส่วนของหวานจะประกอบด้วย แป้ง กะทิ น้ำตาล ผลไม้ตามฤดูกาล เช่นข้าวโพด มัน กล้วย ลำไย ฟักทอง ถั่วดำ ข้าวเหนียวดำ ฯลฯ โดยจะนำของทุกอย่างมารวมกันในกระทะใบใหญ่แล้วกวนโดยใช้ไม้พายกวน เพื่อให้สิ่งของทุกอย่างเปื่อยยุ่ยเข้าเป็น เนื้อเดียวกัน ใช้เวลากวนไม่ต่ำกว่า 5 ชั่วโมง กวนให้งวด เป็นเนื้อเดียว กันตักใส่ถาดตกแต่ง หน้าให้สวย รอให้เย็นแล้วตัดแจกจ่ายแบ่งปันกันในหมู่บ้าน
ขนมอาซูรอจึงถือเป็นขนมพิเศษที่ไม่ได้หารับประทานกันง่ายๆ เพราะ 1 ปีมีให้ลิ้มชิมรสกันได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น สำหรับเด็กแล้วอาซูรอคือขนมอร่อยที่หากินได้ยาก แต่สำหรับผู้ใหญ่ อาซูรอคือความสามัคคี ความ กลมเกลียวของคนทั้งหมู่บ้าน
ที่มา info.muslimthaipost.com
ประเพณีไทยท้องถิ่น ประเพณีเดินเต่า จังหวัดภูเก็ต
 
จังหวัดภูเก็ต เป็นเกาะซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศ ประกอบด้วยเกาะบริวาร 33 เกาะ เช่น เกาะสิเหร่ เกาะแก้ว เกาะมะพร้าว เกาะนาคาใหญ่ เกาะนาคาน้อย เกาะโหลน เกาะเฮ เป็นต้น และถือว่าจังหวัดภูเก็ตนี้มีเต่าขึ้นมาวางไข่ในปีหนึ่งๆ มากพอสมควร เต่าที่อาศัยอยู่ในน่านน้ำไทยมีประมาณ 5 ชนิด คือ เต่ากระ เต่าตนุ หรือเต่าจาระเม็ด เต่าตาแดง เต่าหญ้า และเต่ามะเฟือง จากการที่มีคนนิยมรับประทานไข่เต่ากันมาก จึงมีผู้ที่ไปขุดหาไข่เต่าเพื่อนำมาจำหน่าย ธรรมดาเต่าจะวางไข่ในระหว่างเดือนตุลาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ และเต่าจะขึ้นมาวางไข่ในที่ที่เคยมาวางเป็นประจำทุกปี ในช่วงนี้จึงมีนักท่องเที่ยวเดินทางไปเฝ้าดูการวางไข่ของเต่าเป็นจำนวนมาก จึงเกิดเป็นประเพณีเดินเต่าขึ้นเต่าแต่ละตัววางไข่ในจำนวนที่ไม่เท่ากัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดของเต่าและความสมบูรณ์แต่ส่วนมากอยู่ในระหว่าง 70 – 120 ฟอง หรืออาจจะมากกว่านั้น ในปีหนึ่งๆ เต่าจะวางไข่ 3 ครั้ง คือขึ้นมาวางไข่ครั้งแรก หลังจากนั้นประมาณ 15 วัน จะกลับมาวางไข่ในที่เดิมเป็นครั้งที่ 2 และหลังจากครั้งที่ 2 ประมาณ 15 วัน เต่าก็จะขึ้นมาวางไข่เป็นครั้งที่ 3 เต่าจะเริ่มวางไข่ได้เมื่อมีอายุประมาณ 3 ปีขึ้นไป
 
 
 
 
 
สำคัญของชาวจังหวัดภูเก็ตอีกอย่างคือประเพณีเดินเต่า

การเดินเต่า เป็นประเพณีไทยดั้งเดิมของชาวภูเก็ต สมชาย สกุลทับ (๒๕๓๑ : ๑๕๙-๑๖๑) ได้อธิบายไว้ว่า เดินเต่า คือ การเดินหาไข่เต่าที่ขึ้นมาวางไข่บนหาดทราย ในบริเวณที่มีเต่าขึ้นมาวางไข่ คือ บริเวณชายฝั่งทะเลด้านตะวันตก หรือฝั่งทะเลอันดามัน ได้แก่ ทางตะวันตกของเกาะภูเก็ตโดยตลอด ทางฝั่งทะเลตะวันตกของอำเภอท้ายเหมืองและอำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ประเพณีเดินเต่ามีมานานแล้ว โดยสมัยดั้งเดิมนั้นชาวบ้านในละแวกใกล้เคียงกับชายหาดต่างๆ นิยม คดห่อ(ห่อข้าว) ไปกินกันที่ชายทะเลในตอนบ่ายๆ และจะอยู่กันจนสว่าง จุดไฟผิงกันแล้วถือโอกาสหาไข่เต่าซึ่งเป็นสิ่งที่หายากและเป็นอาหารที่โอชะ การเดินเต่านั้นเดินกันได้เฉพาะฤดูวางไข่เท่านั้น คือ ประมาณเดือน ๑๑ แรม ๑ ค่ำ ราวปลายเดือนตุลาคม หรือต้นพฤศจิกายนไปจนถึงเดือน ๔ หรือ ต้นเดือนกุมภาพันธ์ การเดินเต่าแต่เดิมนั้นสามารถเก็บไข่เต่ากันได้ทุกคน แต่สมัยหลังๆ รับบาลเก็บภาษีโดยให้มีการสัมปทานเป็นหาดๆ ไป การเดินเต่าเพื่อเก็บไข่เต่าจึงเป็นสิทธิของผู้รับสัมปทานตามกฏหมาย และคนอื่นๆ ไม่มีสิทธิที่จะเก็บได้แต่เพียงเดินเต่าเพื่อความสนุกสนาน และดูเต่าทะเลขึ้นมาวางไข่เท่านั้น
ในช่วงเวลาการเดินเต่า จะมีผู้คนคึกคักตามชายหาดเพื่อรอดูเต่าวางไข่ เต่าจะมีลักษณะพิเศษประจำตัว คือ ตัวใดที่เคยมาวางไข่บริเวณใดและในเวลาใด ก็จะมาประจำบริเวณนั้นทุกปี

ปัจจุบันเนื่องจากการขยายตัวของการท่องเที่ยวเกิดขึ้นทุกชายหาดของภูเก็ต ประกอบกับจำนวนเต่าทะเลลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว และไม่ค่อยมีเต่าขึ้นมาวางไข่ตามชายหาด จึงทำให้ประเพณีไทยการเดินเต่าเปลี่ยนเป็นการตั้งแค้มป์พักแรมตามชายหาด เป็นกิจกรรมเพื่อความสนุกสนาน ซึ่งไม่ใช่การเดินเต่าตามความหมายที่แท้จริงดังในอดีต

จากที่กล่าวมาข้างต้นว่าคนนิยมรับประทานไข่เต่ามากขึ้น ทำให้ปริมาณเต่าลดลง นอกจากนั้นยังมีคนฆ่าเต่าเพื่อนำเนื้อไปประกอบอาหารรับประทาน เหตุการณ์เหล่านี้อาจทำให้เต่าสูญพันธุ์ไปในที่สุด ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ตระหนักถึงปัญหาข้อนี้ จึงห้ามมิให้มีการทำประมงเต่าทะเลและเต่ากระทะเลทุกชนิด แต่ก็ยังไม่สามารถรักษาพันธุ์ไว้ได้ ดังนั้นศูนย์ชีววิทยาทางทะเลภูเก็ตจึงตั้งโครงการอนุรักษ์เต่าทะเลขึ้น โดยได้รับความร่วมมือและสนับสนุนจาก สำนักงานประมงจังหวัดและผู้ประมูลหาดเก็บไข่เต่าทั้งในจังหวัดภูเก็ต พังงา และจังหวัดใกล้เคียง ทั้งนี้เพื่อเพิ่มจำนวนเต่าทะเลให้มากขึ้น โดยการรับเลี้ยงและอนุบาลลูกเต่า จนถึงวันที่จะปล่อยลงทะเล นอกจากนั้นยังเป็นการทดลองเลี้ยงเต่าและหาอัตราการเจริญเติบโตของเต่าทะเลชนิดต่างๆ เพื่อส่งเสริมอาชีพประมงในการทำฟาร์มเลี้ยงเต่าต่อไป รวมทั้งเป็นการศึกษาการแพร่กระจายและแหล่งหากินของเต่าทะเลชนิดต่างๆ โดยติดเครื่องหมายที่เต่าแล้วปล่อยลงทะเล ซึ่งเป็นประโยชน์ในการอนุรักษ์ต่อไปด้วยเหตุนี้ จึงจัดให้มีประเพณีปล่อยเต่าลงทะเลขึ้น และปฏิบัติประเพณีสืบต่อมาเป็นประจำทุกปี
เดิมนั้นจัดให้มีขึ้นในวันใดวันหนึ่ง แล้วแต่ความเหมาะสม โดยกระทำกันที่สถานที่ที่เต่าชอบขึ้นมาวางไข่ ต่อมาทางจังหวัดภูเก็ตได้กำหนดให้วันที่ 13 เมษายนของทุกปี เป็นวันขยายพันธุ์ปลาแห่งชาติ และกำหนดให้เป็นวันปล่อยเต่าด้วย สามารถตรวจสอบรายละเอียดได้ที่ thai.tourismthailand.org

การปล่อยเต่านั้นเดิมจัดขึ้นที่หาดป่าตอง ต่อมาเปลี่ยนมาจัดที่หาดไนยาง ซึ่งเต่าได้ขึ้นมาวางไข่เป็นประจำทุกปี พิธีเริ่มด้วยผู้ว่าราชการจังหวัดผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้เป็นประธานในพิธีจะทำการปล่อยเต่าเป็นคนแรก จากนั้นชาวบ้านและนักท่องเที่ยวนำเต่าเล็กๆ โดยขอจากสถานีประมง หรือบริจาคเงินสมทบทุนโครงการอนุรักษ์เต่าทะเลตามแต่ศรัทธา นำไปปล่อยลงทะเล เต่าที่ปล่อยมีอายุตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป

นอกจากประเพณีปล่อยเต่าแล้วยังมีประเพณีไทยการละเล่นอื่นๆของชาวบ้าน เช่น มวยทะเล รำกลองยาว ชักเย่อ และการละเล่นอื่นๆ อีกมากมาย นอกจากนี้กรมประมงได้จัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับเต่าทะเล และสัตว์ทะเลอื่นๆ ให้ชมกันในงานด้วย

ที่มาประเพณีไทย วิถีชีวิต จังหวัดภูเก็ต ประเพณีเดินเต่า
ประเพณีไทย ประเพณีชิงเปรต จ.นครศรีธรรมราช
 
ประเพณีชิงเปรต เป็นประเพณีไทยของภาคใต้ที่กระทำกันในวันสารท เดือน ๑๐ เป็นประเพณีไทยสำคัญที่จัดขึ้นเพื่อทำบุญอุทิศแก่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้ว
 
 
 
 
 
 
 
 
 
ความหมายของประเพณีชิงเปรต ไว้ในสารานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานว่า การชิงเปรตที่ปฏิบัติกันในประเพณีสารทเดือน ๑๐ นี้ มีลักษณะคล้ายกับการทิ้งกระจาดของจีน แต่การทิ้งกระจาดของจีนมีเป้าหมายตรงกับการตั้งเปรต-ชิงเปรตเพียงบางส่วนเท่านั้น กล่าวคือการทิ้งกระจาดของจีนเป็นการทิ้งทานให้แก่พวกผีไม่มีญาติ ส่วนการชิงเปรตของไทยเป็นการอุทิศส่วนกุศลไปให้ทั้งผี(เปรต) ที่เป็นญาติพี่น้องของตนเอง และที่ไม่มีญาติด้วย นอกจากนี้วิธีการปฏิบัติในการทิ้งกระจาดและการชิงเปรตก็แตกต่างกันด้วย
 
 
 
 
 
 
ประเพณีชิงเปรตวันสารท เป็นประเพณีไทยที่ดำรงอยู่บนความเชื่อของการนับถือผีบรรพบุรุษที่ว่า บรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้ว หากยังมีบาปอยู่จะกลายเป็นเปรตในนรก ปีหนึ่งจะถูกปล่อยให้มาเมืองมนุษย์ 15 วัน โดยมาในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 ซึ่งถือว่าเป็นวัน " รับเปรต" หรือวันสารทเล็ก ลูกหลานต้องเตรียมขนมมาเลี้ยงดูให้อิ่มหมีพีมัน และฝากกลับไปเมืองเปรต ในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 นั้น คือวันส่งเปรต กลับคืนเมืองเรียกกันว่าวันสารทใหญ่ต้องทำขนม คาวหวาน ขนมนมเนยครบถ้วน ยิ่งกว่าวันรับเปรตไปวัด โดยตั้งเปรตนอกวัด ให้พระท่านส่งเปรตกลับเมือง ลูกหลานจะจุดธูปเทียน ระลึกถึงเปรต พร้อมกับหมายตาไว้ว่าใครอยากได้อะไรจากวงตั้งเปรต ทันทีที่บรรดาผู้ใหญ่ลุกขึ้น เด็ก ๆ ก็จะเข้าแย่งชิงอาหาร หรือเงินที่วางไว้เป็นที่สนุกสนาน เรียกว่า " ชิงเปรต" เชื่อกันว่าใครได้กินอาหารเดนเปรตจะได้กุศลมาก ผู้เฒ่าผู้แก่หลายคนได้ยืนยันว่าการชิงเปรตไม่เป็นความอัปมงคลแก่ผู้ชิงเปรตแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้ามกลับถือว่าเป็นการทำบุญด้วยซ้ำไป เพราะชื่อว่าบุตรหลานของเปรตตนใดชิงได้ เปรตตนนั้นย่อมได้รับส่วนนั้น เพียงแต่ว่าผู้ชิงต้องระมัดระวังในการที่อาหารหรือขนมที่ตั้งเปรตอาจตกหลานลงพื้น ซึ่งจะทำให้เกิดความสกปรกและเป็นอันตรายต่อสุขภาพเท่านั้น

ประเพณีชิงเปรตทำบุญวันสารท เดือน ๑๐ กำหนดทำ ๒ ครั้ง คือ วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๐ และวันแรม ๑๕ ค่ำเดือน ๑๐ โดยเชื่อว่า วันแรม ๑ ค่ำ เป็นวันที่ยมบาลปล่อยให้เปรต หรือเปตชนขึ้นมาเยี่ยมลูกหลาน ๆ ก็จะทำบุญเลี้ยงต้อนรับ เมื่อถึงวันแรม ๑๕ ค่ำ ก็ถือว่าเป็นวันที่ปู่ย่าตายาย ต้องกลับยมโลก ลูกหลานก็ทำบุญเลี้ยงส่งอีกครั้งหนึ่ง
ประเพณีชิงเปรต จ.นครศรีธรรมราช เป็นประเพณีไทยที่ถือปฏิบัติกันมาแต่โบราณ เป็นประเพณีไทยสำคัญที่กระทำกันจนทุกวันนี้ แม้จะไปทำมาหากินในท้องถิ่นอื่น เมื่อถึงเดือน ๑๐ ก็มักจะกลับมาร่วมพิธีกับญาติทางบ้าน นับเป็นการช่วยเสริมการผูกพันระหว่างครอบครัวและญาติพี่น้อง ทั้งยังเป็นการระลึกถึงบุญคุณ และคุณงามความดีของบรรพบุรุษของตน แม้จะล่วงลับไปแล้วก็ตาม

7 ความคิดเห็น:

  1. เนื้อหาดีมากทำให้เราได้รูู้เกี่ยวกับประเพณีต่างๆของภาคใต้

    ตอบลบ
  2. น่าสนใจมากๆ อยาไปดู

    ตอบลบ
  3. ความคิดเห็นนี้ถูกผู้เขียนลบ

    ตอบลบ
  4. ได้ความรู้เกี่ยวกับประเพณีของภาคใต้
    และทำให้ได้รู้จักเกี่ยวกับภาคใต้มากขึ้น

    ตอบลบ
  5. 1xbet korean - Legalbet.co.kr
    1xbet korean. 1xbet korean. 1xbet. Free spins. 1xbet korean. 1xbet 1xbet. Free spins. 1xbet korean. 1xbet mongolia 1xbet 1xbet. Free spins. 1xbet 1xbet.

    ตอบลบ