วันเสาร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ประเพณีไทยภาคเหนือ

ประเพณีปอยข้าวสังฆ์ ประเพณีไทยล้านนา


ภาษาล้านนา คำว่า “ปอย” หมายถึง งานบุญประเพณี ที่มีผู้คนมาชุมนุมกันเป็นจำนวนมาก ส่วนคำว่า “ข้าวสังฆ์” หมายถึง เครื่องอุปโภคบริโภคสำหรับถวายพระสงฆ์ เพื่ออุทิศส่วนกุศลแด่ผู้วายชนม์ ในที่นี้จะหมายเอาเฉพาะผู้วายชนม์ที่สิ้นชีวิตผิดปกติวิสัยหรือที่เรียก “ตายโหง”ชาวล้านนาเชื่อว่า การตายโหง เป็นการตายที่ผู้ตายไม่ได้เตรียมตัวหรือรู้ตัวมาก่อน ชีวิตหลังการตายจะเป็นอยู่ด้วยความลำบาก ผนวกกับธรรมเนียมประเพณีโบราณนิยมที่ต้องนำศพไปฝังทันที ไม่มีการทำบุญอุทิศเหมือนกับการตายโดยปกติ
 
 
 
ประเพณีปอยข้าวสังฆ์ เป็นงานบุญประเพณีไทยล้านนาเพื่ออุทิศส่วนกุศลไปหาผู้ตายซึ่งตายด้วยอุบัติเหตุต่าง ๆ รวมทั้งตายทั้งกลม หรือตายเนื่องจากการคลอดบุตร ทั้งนี้เพราะเชื่อว่าคนที่"ตายโหง"นั้นวิญญาณไม่มีความสุข ผู้ที่ยังอยู่เช่นสามีหรือภรรยาและลูกหลานพี่น้องมักก็เชิญวิญญาณเข้าสิงขอนกระด้างหรือคนทรงที่มีอาชีพทางนี้โดยเฉพาะเพื่อ ไต่ถามชีวิตความเป็นอยู่หลังจากที่เสียชีวิตแล้ว และถามความต้องการหรือเมื่อทราบว่าต้องการสิ่งใดก็จะจัดส่งไปให้โดยวิธีการจัดถวายทาน ทั้งนี้ไม่จำเป็นว่าจะต้องทำบุญอุทิศไปให้ตรงกับวันตายก็ได้ แต่มักนิยมครบรอบปีตายมากกว่า ปอยเข้าสังฆ์จะจัด ที่บ้าน เพราะคนตายสมัยก่อนจะรีบ นำไปฝัง ไม่นิยมเผาเหมือนในปัจจุบัน และในขณะที่ตั้งศพบำเพ็ญกุศลนั้นไม่มีพิธีทำบุญอุทิศถวายทานให้ผู้ตาย

 
นอกจากพิธีสวด หรือแสดงพระธรรมเทศนา จะจัดพิธีทานทีหลังเมื่อเจ้าภาพพร้อม ถ้าเทียบกับภาคกลางก็เช่นเดียวกับพิธีทำบุญร้อยวันให้ผู้ตายนั่นเอง การจัดปอยเข้าสังฆ์ เจ้าภาพจัดเตรียมเครื่องปัจจัยไทยทานตามกุศลเจตนา และความเชื่อ ซึ่งนิยมทำเป็นบ้านจำลอง มีเครื่องใช้ครบถ้วน ทั้งที่นอนหมอนมุ้งถ้วยชามเสื้อผ้ารองเท้าแว่นหวีและมีเครื่องบริโภคคือข้าวน้ำและอาหารตลอดจนหมากเมี่ยงพลูบุหรี่ต่าง ๆ โดยครบถ้วน โดยเฉพาะหญิงที่ตายทั้งกลมหรือตายเพราะการคลอดหรือหลังคลอดนั้น ถือว่าหญิงนั้นมีกรรมหนัก จะทำเรือสำเภาขนาดประมาณ ๕ เมตร กว้าง ๒ เมตรพร้อมทั้งพายและอุปกรณ์จับปลาต่าง ๆ ใส่ลงในเรือนั้นด้วย โดยเชื่อว่าสำเภาจะพาไปสู่สุคติภพและขณะเดียวกันเครื่องมือจับสัตว์ก็ใช้ช่วยหากินในระหว่างเดินทางไปด้วย

 เนื่องจากเชื่อกันว่า ผู้ที่ถึงแก่กรรมโดยฉับพลันหรือ"ตายโหง"นี้จะเสวยกรรมวิบากทนทุกข์ทรมานมาก ดังนั้น การถวายทานเพื่ออุทิศส่วนกุศลไปให้นั้นจะต้องมีทั้งสังฆ์เครื่องดิบและสังฆ์เครื่องสุก ในชุดสังฆ์เครื่องดิบนั้น เจ้าภาพจะจัดหาของสดของคาวถวายแด่พระสงฆ์ที่บริเวณทางไขว่หรือบริเวณทางแยกในเวลาใกล้ค่ำ เมื่อพระสงฆ์อนุโมทนาแล้วก็ให้ขุดหลุมฝังเครื่องดิบนั้นเพื่อให้ผู้ตายได้บริโภคในแบบที่เป็นขุมทรัพย์ที่ผู้ตายจะนำไป บริโภคในสัมปรายภพ และเนื่องจากเชื่อว่าผีตายโหงมีกรรมมาก จะเข้าในวัดเพื่อรับการอุทิศส่วนกุศลก็ไม่ได้เพราะถูกผีในวัดทำร้ายเอา ดังนั้น จึงต้องนิมนต์พระสงฆ์มาทำพิธีนอกเขตวัดเท่านั้น ซึ่งอาจทำพิธีที่บ้านของเจ้าภาพหรือนอกกำแพงวัดโดยอาจทำผามคือปะรำหรือตั้งเก้าอี้หรืออาสนะสงฆ์เพื่อถวายทั้งสังฆ์ดิบและสังฆ์สุก

ปัจจุบัน การทำบุญประเพณีปอยข้าวสังฆ์ยังเป็นที่นิยมกันอยู่ หากแต่ไม่เฉพาะคนตายโหงเท่านั้น ตายลักษณะไหนก็สามารถทำบุญอุทิศในลักษณะอย่างปอยข้างสังฆ์ได้ ชาวล้านนาจึงดำรงไว้ซึ่งประเพณีไทยล้านนาปอยข้าวสังฆ์ดังกล่าวและปฏิบัติสืบต่อกันมาช้านาน
ประเพณีไทย การทำขวัญผึ้ง ของชาวคีรีมาศ จังหวัดสุโขทัย
 
ประเพณีการทำขวัญผึ้งเป็นประเพณีไทยที่สืบเนื่องมาจากการส่งส่วยน้ำผึ้งแทนแรงงานราษฎรของชาวตำบลศรีคีรีมาศ การส่งส่วยเป็นการปฏิบัติตามพระราชกำหนดที่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ซึ่งกำหนดไว้ว่าชายฉกรรจ์ไทยที่มีร่างกายสมประกอบมิได้เป็นบรรพชิต นักบวช มิใช่ไพร่สมสังกัดเจ้าขุนมูลนายใด ๆ ท่านให้สักข้อมือขึ้นบัญชีเป็นไพร่หลวง สังกัดนครหลวงหรือหัวเมืองต่าง ๆ เป็นกำลังของบ้านเมืองและประเทศชาติ และจะต้องไปเข้าเวรรับราชการให้หลวงท่านใช้แรงงานตลอดช่วงอายุ 18-60 ปี จนถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้นได้มีการลดหย่อนให้ไพร่หลวงที่เกินความต้องการใช้แรงงาน ไม่ต้องเข้ารับราชการ โดยเสียค่าส่วยแทนแรงงานได้ หัวเมืองที่อยู่ห่างไกลเมืองหลวงไม่ต้องการตัวไพร่เข้าประจำการจึงได้กำหนดให้มีการส่งส่วยสิ่งของแทนแรงงาน เพราะหัวเมืองเหล่านี้มีป่าดงและภูเขา ซึ่งมีสิ่งที่บ้านเมืองหรือพระมหากษัตริย์ต้องการ
 
 

 
 

 
ประเพณีไทยการทำขวัญผึ้ง ของชาวตำบลศรีคีรีมาศที่อาศัยอยู่เชิงเขาหลวง ซึ่งอุดมไปด้วยป่าไม้และรังผึ้งมากมาย ต้องส่งส่วยน้ำผึ้งติดต่อกันมาเป็นเวลานาน การหารังผึ้ง การตีผึ้ง การทำขี้ผึ้ง จึงเป็นสิ่งที่ผูกพันกับการดำรงชีวิตของชาวตำบลศรีคีรีมาศ ตลอดมา ด้วยเหตุที่ต้องการให้มีผึ้งมาทำรังตามต้นไม้มาก ๆ จะไม้มีน้ำผึ้งเพียงพอแก่การส่งส่วยตามจำนวนที่เมืองหลวงกำหนด จึงได้เกิดประเพณีการทำขวัญผึ้งขึ้น ซึ่งเป็นการอัญเชิญผึ้งให้มาทำรังตามต้นไม้ที่ผึ้งเคยเกาะอยู่ ประเพณีการทำขวัญผึ้งจึงได้รับการปฏิบัติสืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน เพิ่งจะมาสูญหายไปเมื่อประมาณ 40 ปี เศษมานี้เอง ต่อมาจึงได้มีการดำเนินการฟื้นฟูประเพณีทำขวัญผึ้งขึ้นในตำบลศรีคีรีมาศ จังหวัดสุโขทัย ในวันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 ซึ่งตรงกับวันครูที่ 16 มกราคม 2526 เพื่ออนุรักษ์และส่งเสริมประเพณีไทย ในการทำขวัญผึ้งสืบต่อไป
 
ประเพณีปีใหม่ม้ง น่อเป๊ะเจ่า
 
ประเพณีขึ้นปีใหม่หรือประเพณีฉลองปีใหม่ ซึ่งเป็นงานรื่นเริงของชาวม้งของทุก ๆ ปี จะจัดขึ้นหลังจากได้เก็บเกี่ยวผลผลิตในรอบปีเรียบร้อย และเป็นการฉลองถึงความสำเร็จในการเพาะปลูกของแต่ละปี ซึ่งจะต้องทำพิธีบูชาถึงผีฟ้า - ผีป่า – ผีบ้าน ที่ให้ความคุ้มครอง และดูแลความสุขสำราญตลอดทั้งปี รวมถึงผลผลิตที่ได้ในรอบปีด้วย ซึ่งแต่ละหมู่บ้านจะทำการฉลองกันอย่างพร้อมเพรียงกัน หรือตามวัน และเวลาที่สะดวกของแต่ละหมู่บ้าน ซึ่งโดยมากจะอยู่ในช่วงเดือนธันวาคมของทุกปี

 
 
 
 
ประเพณีฉลองปีใหม่ม้งนี้ชาวม้งเรียกกันว่า “น่อเป๊ะเจ่า” แปลตรงตัวได้ว่า “กินสามสิบ” สืบเนื่องจากชาวม้งจะนับช่วงเวลาตามจันทรคติ โดยจะเริ่มนับตั้งแต่ขึ้น 1 ค่ำ ไปจนถึง 30 ค่ำ (ซึ่งตามปฏิทินจันทรคติจะแบ่งออกเป็นข้างขึ้น 15 ค่ำ และข้างแรม 15 ค่ำ) เมื่อครบ 30 ค่ำ จึงนับเป็น 1 เดือน ดังนั้นในวันสุดท้าย (30 ค่ำ) ของเดือนสุดท้าย(เดือนที่ 12) ของปีจึงถือได้ว่าเป็นวันส่งท้ายปีเก่า ช่วงวันฉลองปีใหม่ส่วนใหญ่จะตกอยู่ประมาณช่วงเดือนพฤศจิกายน ถึงเดือนมกราคม ในวันดังกล่าวหัวหน้าครัวเรือนของแต่ละบ้าน จะประกอบพิธีกรรมทางศาสนา เพื่อความเป็นสิริมงคลของครัวเรือน ถัดจากวันส่งท้ายปีเก่าไป 3 วัน คือวันขึ้น 1 ค่ำ 2 ค่ำและ 3 ค่ำของเดือนหนึ่ง จัดเป็นวันฉลองปีใหม่อย่างเป็นทางการ ซึ่งทุกคนจะหยุดหน้าที่การงานทุกอย่างในช่วงวันดังกล่าวนี้ และจะมีการจัดการละเล่นต่าง ๆ ในงานขึ้นปีใหม่ เช่น การละเล่นลูกช่วง การตีลูกข่าง การร้องเพลงม้ง


ประเพณีปีใหม่ของชาวไทยภูเขาเผ่าม้ง ที่บ้านห้วยทรายเหนือ ต.ห้วยเฮี้ย อ.นครไทย จำนวน 5 หมู่บ้าน และ บ้านขุนน้ำคับ ต.บ่อภาค อ.ชาติตระการ จ.พิษณุโลก จำนวน 5 หมู่บ้าน รวมทั้ง 2 อำเภอ จำนวน 10 หมู่บ้าน ทั้งนี้เพื่ออนุรักษ์ประเพณีอันดีงามซึ่งเป็นเอกลักษณ์ประจำท้องถิ่นของชนเผ่าม้ง ส่งเสริม รักษาวัฒนธรรม ประเพณีของชุมชน ปลูกฝังให้เด็กเยาวชนและประชาชนทั่วไป ได้ตระหนักถึงคุณค่ารู้จักรักและหวงแหนประเพณีของตนเอง ส่งเสริมกิจกรรมพัฒนาการให้กับประชาชนในท้องถิ่น การละเล่นกีฬาพื้นบ้าน ก่อให้เกิดความสามัคคีในหมู่คณะของชาวไทยภูเขาเผ่าม้ง และยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของอำเภอและจังหวัดให้แพร่หลาย

สำหรับปีใหม่ม้งนั้น จะตรงกับเดือนขึ้น 1 ค่ำ เดือน 1 ของทุกปี และเป็นเทศกาลที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อชาวม้ง เพราะชาวเขชาเผ่าม้งมีศิลปะวัฒนธรรมประเพณีและวิถีชีวิตที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะชนเผ่า ซึ่งมีกิจกรรมที่สำคัญคือ การโยนลูกช่วงของหนุ่มสาว คนแก่คนเฒ่า ได้ถือว่าการจับคู่โยนลูกช่วงเป็นการเลือกคู่ โดยผู้หญิงเป็นฝ่ายมีสิทธิ์เลือก ถ้าชอบคนไหนก็สามารถเลือกโยนกับคนนั้น วันขึ้นปีใหม่ชาวม้ง ก็จะต้องหมู่ไก่ ธูปเทียนเส้นไหว้ บรรพบุรุษผู้ล่วงลับเพื่อขอพรด้วย ปีนี้ได้กำหนดการจัดการปีใหม่ม้งจำนวน 5 วัน ตั้งแต่วันที่ 14-18 ธันวาคม 2555 โดยในปีนี้ได้มีการรณรงค์ชาวไทยภูเขาเผ่าม้ง สวมชุดพื้นเมือง หรือชุดประจำเผ่าด้วย

 โดยมีกิจกรรมการละเล่นพื้นบ้าน เช่น การโยนลูกช่วงตามประเพณี การแข่งขันกีฬาพื้นบ้าน การแข่งขันตีลูกข่าง วิ่งเปี้ยว การแข่งขันชักกะเย่อ เป้น้ำ และการแข่งขันยิงหน้าไม้ การแสดงเต้นรำของเยาวชน กลุ่มแม่บ้าน การประกวดเดินโชว์เสื้อผ้าม้ง การร้องเพลง และการแสดงละครบนเวทีโดยมีชาวไทยภูเขาเผ่าม้ง ซึ่งบรรยากาศเป็นไปอย่างสนุกสนานคึกคักทีเดียว โดยเฉพาะบรรดาหนุ่มสาว ที่ต้องไปเรียนและทำงานต่างจังหวัด และได้มีโอกาสกลับมาร่วมงานปีใหม่ม้งกันอย่างอบอุ่น
 
 
กั่นตอ ประเพณีไทยใหญ่ เมืองปาย ประเพณีขอขมาผู้เฒ่า
ประเพณีสงกรานต์หรือปีใหม่ไทยของทุกปี นอกจากการเข้าวัดเพื่อทำบุญตักบาตรเพื่อความเป็นสิริมงคลในช่วงปีใหม่แล้ว อีกสิ่งที่คนไทยมักจะปฏิบัติสืบต่อกันมาก็คือ ประเพณีรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่หรือผู้อาวุโสกว่า เพื่อขอขมาในสิ่งที่อาจเคยล่วงเกินไป พร้อมกับขอให้ผู้ใหญ่อวยชัยให้พร

 ประวัติความเป็นมา สมัยพระพุทธกาลนั้นมีสามีภรรยาคู่หนึ่งไปกราบทูลสมเด็จองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า ในวันออกพรรษานี้อยากจะพบพระอรหันต์ โดยที่ครอบครัวนี้ไม่รู้ว่าพระที่กำลังสนทนาอยู่นั้นเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์นั้นบอกให้สองสามีภรรยากลับไปที่บ้านก่อน ก็จะพบพระอรหันต์ซึ่งเป็นคนแก่ๆ สองคนนั่งอยู่ใกล้กัน นั่งหย่อนขาลงและใส่รองเท้ากลับข้างกันแกว่งขาไปมาอยู่ที่บ้านนั่นแหละ

 
 
 
 
พอครอบครัวนี้พากันกลับมาหาพระอรหันต์ที่บ้านก็พบว่าคุณพ่อคุณแม่ซึ่งแก่เฒ่ามากแล้ว ความจำก็เสื่อม ใส่รองเท้าผิดข้างนั่งคุยกันอยู่สองคน ครอบครัวนั้นจึงนึกขึ้นได้ว่า ที่แท้คุณพ่อคุณแม่ที่บ้านเรานี่แหละเป็นพระอรหันต์ที่แท้จริง เราจักต้องกราบไหว้ก่อนใคร ดังนั้นจึงเอาข้าวตอกดอกไม้ ธูป เทียนใส่พานยกขึ้นทูนเหนือศีรษะ กล่าวข้ามากั่นตอคุณพ่อคุณแม่ แล้วยื่นพานข้าวตอกดอกไม้ให้บุพการีทั้งสองรับพานนั้นไป คุณพ่อคุณแม่ก็ให้พรสี่ประการ คือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ ปฏิภาณธนสารสมบัติ คนไตจึงยึดถือปฏิบัติมานับแต่นั้น

 ประเพณีไทยแบบเดียวกันนี้ของคนไทยใหญ่ หรือคนไตแห่งเมืองปาย จ.แม่ฮ่องสอน ก็มีเป็นประจำทุกปีเช่นกัน หากแต่แตกต่างกันในเรื่องของวันเวลาและชื่อที่เรียกขาน

 “จอมฮอย ทุงจ่ามไต กั่นตอคนเฒ่า เหลินห้า” เป็นชื่อตามภาษาไทยใหญ่แบบเต็ม ๆ ของประเพณีขอขมาผู้สูงอายุในเทศกาลสงกรานต์ของชาวไทยใหญ่ ซึ่งจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี หลังเทศกาลสงกรานต์ผ่านพ้น โดยเริ่มประเพณีที่เรียกสั้นๆ ว่ากั่นตอด้วยวันแต่งดา ซึ่งเป็นวันที่จะออกประกาศไปทั่วอำเภอเมืองปายให้ผู้คนได้รับรู้ถึงประเพณีขอขมาผู้สูงอายุที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีก 2 วันข้างหน้า

 ก่อนจะตามมาด้วยวันจัดเตรียมความพร้อม โดยมีสาระสำคัญอยู่ที่การจัดทำห่อข้าวไทยใหญ่ย้อนยุค ที่มีกับข้าวหลากหลายบรรจุอยู่ภายในใบตองตึงที่ใช้เป็นวัสดุในการห่อ ทั้งจิ้นลุง ตำมะหนุน ถั่วฟูคั่ว ไข่คั่ว จิ้นทอด รวมถึงน้ำพริกตาแดง โดยแบ่งหน้าที่กันทำใน 3 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านเมืองแพร่ ต.เวียงใต้, บ้านแม่ฮี้ ต.แม่ฮี้ และบ้านแม่นาเติงนอก ต.แม่นาเติง

 คำว่า “กั่นตอ” เป็นภาษาไทยใหญ่แปลว่า ขอขมา นิยมทำสองครั้งในแต่ละปีคือ หลังสงกรานต์และออกพรรษา การกั่นตอที่ว่านี้จะกั่นตอต่อพ่อแม่ก่อน แล้วไปกั่นตอพระสงฆ์ และก็กั่นตอต่างหมู่บ้าน

 ประเพณีกั่นตอ ของชาวไตแห่งเมืองปาย หลังจากจัดเตรียมทุกอย่างพร้อมแล้วในวันที่สามของงาน ช่วงเย็นชาวไทยใหญ่ในชุดแต่งกายตามแบบไทยใหญ่จะเริ่มตั้งขบวน ณ วัดหลวง แม่อุ้ยจะเริ่มออกเดินพร้อมเครื่องขอขมาที่ประกอบด้วยหัวอุ๊บทำจากใบตอง ผ้าห่ม ข้าวห่อไทยใหญ่ และกระเทียม แม่อุ้ยไทยใหญ่บอกว่าเป็นของที่จะเอาไปใช้ไปกินได้ด้วย นำโดยขบวนขันพลู-ขันหมาก ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องมีประกอบทุกครั้งที่มีงานบุญแบบไทยใหญ่ ก่อนจะตามมาด้วยขบวนขันโตก แล้วเดินวนอ้อมไปทางถนนคนเดินก่อนจะตัดเข้าสู่ที่ว่าการอำเภอ

 ก่อนจะมีการแสดงพื้นเมือง มีพระมาเทศนา และตบท้ายด้วยพิธีกั่นตอ โดยเอาตะกร้าที่ใส่เครื่องสมาไว้มาขอขมาผู้เฒ่าผู้แก่ที่มาจากหมู่บ้านต่าง ๆ นับร้อยคน พร้อมรับคำให้พรจากผู้เฒ่าผู้แก่ตอบกลับมา
 
ประเพณีโล้ชิงช้าของชาวอีก้อ ประเพณีไทยภาคเหนือ
 
ชาวอีก้อ หรือที่เรียกตนเองว่า "อาข่า" มีเชื้อสายจากจีน-ทิเบต เดินทางอพยพมาอยู่บริเวณ ชายแดนไทย-พม่า แถบตอนเหนือของลำน้ำกก โดยเฉพาะอำเภอแม่จัน และแม่สาย การโล้ชิงช้าเป็นการขึ้นไปขอพรและแสดงความรำลึกถึงพระคุณของเทพธิดาแห่ง สรวงสวรรค์ ผู้ประทานความชุ่มชื่นอุดมสมบูรณ์ให้กับพืชพันธุ์ธัญญาหารและ ยังเป็นการเซ่นไหว้บรรพบุรุษอีกด้วย จัดในช่วงเดือนสิงหาคม

ประเพณีโล้ชิงช้า ประเพณีไทยภาคเหนือ จัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองพืชพันธุ์ที่จะเก็บเกี่ยวไว้บริโภคตลอดทั้งปี และเพื่อรำลึกถึง “ผี” เทพธิดาตามตำนานที่ดลบันดาลให้ผลผลิตอุดมสมบูรณ์ ถือเป็นวันปีใหม่ด้วย
 
 
 
 
 
 
 
ประเพณีโล้ชิงช้าพิธีกำหนดไว้ ๔ วัน

ร่วมสัมผัสประเพณีวัฒนธรรม วิถีชีวิตของชาวชนเผ่าอาข่าที่แฝงไว้ซึ่งความสวยงาม และเคารพในธรรมชาติ เรียนรู้ถึงวัฒนธรรมที่แตกต่างความเข้าใจถึงธรรมชาติ และวิถีการอยู่ร่วมกันในสังคมของพวกเขา ในรูปแบบโฮมสเตย์ เสาชิงช้าเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของชนเผ่าอาข่า จะตั้งอยู่ใกล้ๆประตูหมู่บ้าน ที่สร้างขึ้นเพื่อบูชาเทพเจ้าแห่งความอุดมสมบูรณ์ ที่ให้ผลผลิตแก่พวกเขาในการดำรงค์อยู่ ทุกปีในช่วยเดือนกันยายน หลังจากที่ทุกคนเหน็ดเหนือยกับการทำงานในไร่ข้าวของพวกเขา และงานในไร่ส่วนมากผู้หญิ่งอาข่าจะมีหน้าที่ในการดูแลงานในไร่ และแล้วเมือผลผลิตได้ออกผลเต็มที่แล้ว เหล่าผู้ชายในหมู่บ้านจะจัดทำชิงช้าขึ้นเพื่อเป็นการบูชาเทพเจ้าแห่งความอุดมสมบูรณ์ และเพื่อผู้หญิ่งที่ทำงานหนักมาตลอดเวลา ได้มีการฉลองปีใหม่และการละเล่นโล้ชิงช้า ดั่งนั้นผู้หญิ่งชาวอาข่าจึ่งแต่งตัวให้สวยงามเข้าร่วมในงานพิธีดั่งกล่าว โดยมทำพิธีการอยู่ ๔ วันดังนี้

วันที่๑
เซ่นไหว้บรรพชน ผู้หญิ่งจะแต่งตัวสวยงามไปตักน้ำที่บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ ล้างเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ เพื่อนำไปหมักข้าวเหนียวไว้ทำ"ข้าวปุก"เพื่อประกอบพิธีเซ่นไหว้บรรพบุรุษ

วันที่ ๒
สร้างชิงช้า ผู้ชายในหมู่บ้านจะช่วยกันสร้างชิงช้าใหญ่ของชุมชนอยู่บริเวณเขตประตูศักดิ์สิทธิ์ของหมู่บ้าน โดย แทนอันเก่าที่รื้อลง ฝังเสาชิงช้าลงในตำแหน่งเดิม โดยมีหัวหน้าพิธีกรรมเป็นผู้นำพิธีและเริ่มต้นโล้ชิงช้า สวนกลางคืนหนุ่มสาวจะออกมาร้องเพลงเต็นรำกันเป็นที่สนุกสนานและวันนี้ไม่การฆ่าสัตว์ตัดชีวิต แขกที่มาร่วมงานจะร่วมเต้นรำกันอย่างสนุกสนาน

วันที่ ๓
ในช่วงเช้าของวันนี้จะมีการฆ่าหมูที่บ้านของผู้มีอันจะกินเพื่อเลี้ยงแขกที่มาในงาน และจะมีการฆ่าหมู ไก่ เพื่อเพื่อนำมาเป็นอาหารเลี้ยงดูกัน และแขกที่มาร่วมงาน ส่วนเด้กพ่อแม่จะทำชิงช้าขนาดเล็กๆให้เล่นตามหน้าบ้านเป็นที่สนุกสนาน

วันที่ ๔
วันนี้เป็นวันสุดท้ายของงานประเพณีโล้ชิงช้า เหล่าผู้หญิงและเด็กๆจะมาร่วมกันเล่นชิงช้าของหมู่บ้านเพื่อเป็นศิริมงคลแก่พวกเขา วันนี้ไม่มีพิธีกรรมอะไร จนหลังพระอาทิตย์ลับฟ้า หมอผีจะไปพูกสายชิงช้ากับเสาไว้เป็นอันว่าปีใหม่ปีนี้ได้สิ้นสุดลงแล้ว และต่อจากนี้ไปห้ามไม่ให้ผู้ใดมาเลินหรือแตะต้องเสาชิงช้านี้อีก จนกว่าจะถึงเทศกาลปีใหม่
 
 
 
 
 
 
ประเพณีโล้ชิงช้า ถือเป็นประเพณีให้ความสำคัญต่อผู้หญิง บรรดาหญิงอ่าข่าถือเป็นวันสำคัญ นับเป็นวันเปลี่ยนสถานะ จากวัยเด็กเป็นวัยรุ่นขึ้นอายุ 13 ปี และเปลี่ยนจากวัยรุ่นเป็นวัยสาวขึ้นอายุ 17 ปี หญิงสาวอ่าข่าจะแต่งกายยกระดับวัยสาวตามขั้นตอน เพื่อแสดงให้คนในชุมชนเห็น พร้อมทั้งขึ้นโล้ชิงช้า และร้องเพลง ซึ่งมีตำนานเล่าถึง หญิงคนหนึ่งร้องเพลงตอนโล้ชิงช้าเป็นคนแรก เมื่อเทพเจ้าฝนได้ยินจึงสั่งให้ฝนเทลงมา แล้วกลายเป็นประเพณีสืบมาจนทุกวันนี้
 
 
 
ประเพณีไหว้พระธาตุดอยตุง จังหวัดเชียงราย
พระบรมธาตุดอยตุง เป็นปูชนียสถานที่สำคัญที่สุดของเชียงราย ประดิษฐานอยู่บนยอดดอยตุง ตั้งอยู่ในวัดพระธาตุดอยตุง ต.ห้วยไคร้ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย มีถนนแยกจากบ้านห้วยไคร้ขึ้นไปจนถึงองค์พระบรมธาตุ องค์พระบรมธาตุเจดีย์ มีอยู่ 2 องค์ โดยมีเรื่องเล่าว่าได้มีการนำพระบรมธาตุมาบรรจุที่ดอยตุงถึง 3 ครั้ง แต่ละครั้งก็จะมีการก่อเจดีย์ขึ้นด้วย แต่มีเพียง 2 องค์เท่านั้นที่ได้รับการบูรณะและอยู่มาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งพระเจดีย์ทั้ง 2

วัดพระมหาชินธาตุเจ้า (ดอยตุง) หรือเรียกโดยทั่วไปว่า วัดพระธาตุดอยตุง ตั้งอยู่บริเวณส่วนที่เรียกว่าหน้าอกของดอยนางนอน ตำบลห้วยไคร้ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่ของชาวเขา ซึ่งดอยตุงมีระยะทางห่างจากอำเภอเมืองเชียงรายประมาณ ๔๖ กม. และมีพระธาตุดอยตุงประดิษฐานอยู่บนยอดดอย สามารถมองเห็นได้ในระยะไกลเนื่องจากพระธาตุดอยตุง ตั้งอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลประมาณสองพันเมตร
 
 
 
 
 
 
 
พระบรมธาตุดอยตุง ตามตำนานเล่าว่าสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าอชุตราช ผู้ครองเมืองโยนกนาคพันธุ์ เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุพระรากขวัญเบื้องซ้าย (กระดูกไหปลาร้า) ดังที่พระพุทธเจ้าทรงพยากรณ์ไว้ ก่อนที่จะสร้างพระเจ้าอชุตราชให้ทำทุง (ตุง) มีความยาว ๑,๐๐๐ วาปักบนยอดเขาหากทุงปลิวไปถึงที่ใดก็กำหนดให้เป็นฐานของพระเจดีย์ ทั้งนี้พระองค์ได้พระราชทานทองคำให้พวกลาวจกเป็นค่าที่ดิน และให้พวกมิลักขุ ๕๐๐ ครอบครัวดูแลรักษาพระธาตุ ต่อมาในสมัยพญามังรายพระมหาวชิรโพธิเถระได้นำพระบรมสารีริกธาตุมาถวาย ๕๐ องค์ พญามังรายจึงให้สร้างพระเจดีย์อีกองค์ใกล้กับเจดีย์องค์เดิม บางตำนานว่าที่มาชื่อดอยตุงเนื่องจากพระมหากัสสปะได้อธิษฐานตุงยาว ๗,๐๐๐ วาไว้ที่ยอดดอยแห่งนี้ พระบรมธาตุดอยตุงได้รับการบูรณะหลายครั้ง โดยครั้งล่าสุดเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๓ ได้บูรณะเป็นเจดีย์ทรงปราสาททององค์

ประเพณีไหว้พระธาตุดอยตุง
ช่วงเวลา วันเพ็ญเดือน ๖ เหนือ (เดือน ๔ ไทยกลาง) หลังวันมาฆบูชา ๑ เดือนความสำคัญพระธาตุดอยตุง เป็นปูชนียสถานเก่าแก่ของชาวพุทธในเชียงราย และจังหวัดใกล้เคียง รวมทั้ง ชาวพุทธในรัฐเชียงตุง ประเทศพม่า และในประเทศลาว การไหว้พระธาตุดอยตุงเชื่อว่าจะทำให้ชีวิตดีขึ้นพิธีกรรมในวันเพ็ญเดือน ๖ พุทธมามะกะจากทุกทิศ จะเดินทางขึ้นไปบนยอดดอยตุง ซึ่งตั้งอยู่ในเขตอำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย กิจกรรมในวันนั้น ภาคกลางวันมีการบูชาพระรัตนตรัย รับศีล และฟังเทศน์ กลางคืนมีการเวียนเทียนรอบองค์พระธาตุ ในอดีต ผู้ที่เดินทางมักเดินจากเชิงเขาที่บ้านห้วยไคร้ อำเภอแม่สายขึ้นไปเป็นระยะทางประมาณ ๙ กิโลเมตร ปัจจุบันนี้ นิยมเดินทางด้วยรถยนต์ตามถนนลาดยางที่แยกจากถนนพหลโยธินที่บ้านสันกอง อำเภอแม่จัน ส่วนผู้ที่นิยมเดินขึ้นเหลือน้อยลง เพราะถนนสำหรับรถยนต์ได้ทับเส้นทางเดินเท้าหลายแห่ง

สาระของประเพณีไทยชาวพุทธมีการสมาทานศีลและการฟังเทศน์เป็นหลัก ซึ่งเป็นไปเพื่อชำระจิตใจให้ปราศจากกิเลส และฝักใฝ่ทางกุศล การเดินทางขึ้นไปไหว้พระธาตุดอยตุงบนยอดดอยแสดงให้เห็นศรัทธา ความเพียร และความอดทน
 
ประเพณีไทย ประเพณีปอยส่างลอง จังหวัดแม่ฮ่องสอน
 
ประเพณีปอยส่างลองเป็นประเพณีไทยที่เกิดจากศรัทธายึดมั่นในบวรพุทธศาสนาอย่างมั่นคงของคนไตซึ่งถือว่าการที่กุลบุตรสามารถอุทิศตนบรรพชาอุปสมบทในพุทธศาสนาได้เป็นผู้มีบุญอันยิ่งใหญ่ เจ้าภาพจะยอมเสียสละ สิ่งของ เงิน ทอง อันเป็นโลกียทรัพย์ภายนอกเท่าไรก็ได้เพื่อสนับสนุนให้กุลบุตรได้มีโอกาสพบกับอริยทรัพย์ในทางพระพุทธศาสนาคือ การบรรพชา เสียสละ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข มุ่งดำเนินตามอริยมรรคเส้นทางไปสู่พระนิพพาน เป็นการเลียนแบบเหตุการณ์ตามพุทธประวัติตอนที่พระพุทธเจ้าเสด็จกรุงกบิลพัสดุ์เพื่อโปรดพระประยูรญาติวันหนึ่งพระนางพิมพาถือโอกาสที่ปลอดโปร่งแต่งองค์ทรงเครื่องให้พระราหุลกุมารและส่งไปขอราชสมบัติจากพระพุทธองค์ เมื่อได้รับคำขอจากราหุลกุมารแทนที่จะพระราชทานราชสมบัติให้ พระพุทธองค์ทรงดำริว่าราชสมบัติอันเป็นโลกียทรัพย์นี้ไม่จีรังควรที่เราจะพระราชทาน อริยทรัพย์อันยั่งยืนดีกว่าแล้วทรงรับสั่งให้บรรพชาราหุลกุมารเป็นสามเณรแทนประเพณีบวชส่างลองของชาวแม่ฮ่องสอน เปรียบเทียบได้กับประเพณีการบวชลูกแก้วของ ชาวไทยล้านนาทั่ว ๆ ไปนั่นเอง
 

 
 
 
 
 
ประเพณีปอยส่างลองเป็นประเพณีไทยภาคเหนือที่สำคัญและยิ่งใหญ่ในความรู้สึกของชาวไทยใหญ่ที่ยึดถือปฏิบัติ สืบทอดติดต่อกันมาเป็นเวลานาน ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะเกิดจากการจำลองเหตุการณ์เรื่องราวในพุทธประวัติซึ่งชาวไทยใหญ่เลื่อมใสศรัทธาในพระบวรพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้ง ประเพณีบรรพชาอุปสมบทของชาวไทยใหญ่จึงจัดอย่างใหญ่โตมโหฬาร ถือเป็นพิธีกรรมที่ศักดิ์สิทธิ์ ใคร ๆ ก็อยากทำบุญ ใคร ๆ ก็อยากเป็น “อลอง” ผู้ที่มีบุตรชายจะพยายามดิ้นรนให้บุตรของตนได้บวชเรียนให้จงได้ การบรรพชาอุปสมบทส่วนใหญ่จะจัดงานประเพณีปอยส่างลองกันทั้งนั้น มีน้อยรายที่จะบวชโดยไม่จัดงานประเพณีปอยส่างลอง แต่การบวช “ส่างลอง” เพราะเป็นงานที่สิ้นเปลือง

สมัยก่อน ถ้าเด็กอายุเต็มบรรพชาจะนำไปอยู่วัดกับพระครู ซึ่งเป็นเจ้าอาวาส หนึ่งพรรษาก่อนบวชเพื่อเรียนธรรมคำ บรรพชา และฝึกฝนรายการบรรพชาให้พร้อมทุกประการก่อนถึงเวลาบรรพชา เด็กที่จำอยู่วัดก่อนบรรพชานี้ภาษาไตหลวง เรียกว่า”กัปปิ” หรือ “กับปิยะ” แต่ในสมัยนี้ ถือเอาตามระเบียบใหม่ตามกาลเวลาเตรียมการก่อนบรรพชาแค่ 15 วันหรือ 1 เดือนก็เพียงพอแล้ว โดยเฉพาะเด็กที่กำลังศึกษาอยู่ในช่วงประถมหรือมัธยม แต่ทว่าในชนบทยังยึดถือเป็นประเพณีไทยที่เตรียมบรรพชาข้ามพรรษา 1 เดือนเหมือนเดิมทุกอย่าง
วัตถุประสงค์การบวชประเพณีปอยส่างลอง จางลอง
 1. เพื่อให้เด็กได้มีโอกาสเข้าถึงพระพุทธศาสนา (คือการถือเป็นพุทธมามกะ)
 2. เพื่อให้เด็กได้ศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยและให้มีวิชาความรู้ในแขนงต่างๆ และให้เด็กมีจิตใจติดอยู่ในด้าน ศีลธรรมคุณธรรมและจริยธรรมต่างๆ
 3. เพื่อสืบสานวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามตลอดไป
 4. อีกประการหนึ่ง มีความเชื่อถือว่า ถ้าได้บรรพชาเป็นส่างลอง(เป็นนาคสามเณร)จะได้แทนคุณน้ำนมมารดาข้าง หนึ่ง หรือถ้าได้อุปสมบทเป็นจางลอง(เป็นนาคพระ)จะได้แทนคุณน้ำนมมารดาทั้งสองข้าง
 5. ผู้ที่ได้รับเป็นเจ้าภาพบรรพชาหรืออุปสมบทนั้น จะได้รับอานิสงส์มาก เมื่อสิ้นชีพนี้ก็จะได้สมบัติใน
สวรรค์ และตลอดถึงพระนิพพาน
 6. เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนการท่องเที่ยวภายในประเทศ ในจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดข้างเคียงอีกด้วย
 ขั้นตอนการจัดงานประเพณีปอยส่างลอง
ประเพณีปอยส่างลอง หรืองานบวชลูกแก้วนั้นเป็นพิธีการเฉลิมฉลองของการบรรพชาสามเณรในศาสนาพุทธซึ่งปกติจะมีการจัดงานตั้งแต่ 3 – 5 - 7 วัน ซึ่งงานดังกล่าวนี้จะนิยมจัดขึ้นในช่วงปลายเดือนมีนาคม ถึงต้นเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงหน้าแล้งที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ว่างเว้นจากการทำนาทำไร่ และเป็นช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อนของเด็กๆด้วย
ก่อนถึงวันประเพณีปอยส่างลอง อย่างน้อย 10 วัน พ่อแม่จะนำเด็กที่จะเข้ารับการบวช ไปฝากไว้กับหลวงพ่อ หรือพระอาจารย์ที่วัด เพื่อรับการฝึกสอนคำรับศีล คำให้พร คำขอบวช รวมถึงการกราบไว้ และก่อนจะเป็นส่างลอง เด็กซึ่งเป็นผู้ชายจะต้องโกนผม และอาบน้ำสะอาด หรือ น้ำเงิน น้ำทอง น้ำเพชร น้ำพลอย เพื่อเป็นสิริมงคล จากนั้นจะแต่งกายด้วยชุดเสื้อผ้าเครื่องประดับต่างๆ อย่างอลังการ มีการแต่งหน้าแต่งตาด้วยสีสันที่จัดจ้านให้ส่างลอง ดูสวยงามเสมือนเจ้าชายซึ่งมีสง่าราศีเหนือคนทั่วไป
วันแรกของประเพณีปอยส่างลอง หรือ ที่เรียกกันว่า วันเอาส่างลอง หลังจากส่างลองได้ทำพิธีรับศีลแล้ว ผู้เป็นพ่อแม่รวมถึงเจ้าภาพจะจัดเลี้ยงอาหาร 12 อย่าง เป็นมื้อแรกแก่ส่างลอง จากนั้นจะนำส่างลองแห่รอบวิหาร 3 รอบ และแห่ไปกราบคารวะศาลหลักเมือง จากนั้น ในช่วงบ่ายก็จะนำส่างลองไปคารวะตามวัดต่างๆ
วันที่สอง หรือ "วันรับแขก" ทั้งส่างลอง และเจ้าภาพ จะคอยให้การต้อนรับแขกจากที่ต่างๆ ที่ได้มีการเชิญไว้ก่อนล่วงหน้า ซึ่งจะมาร่วมทำบุญด้วย ซึ่งวันนี้จะเป็นวันที่มีการเลี้ยงฉลองแขกและญาติๆ ที่มาร่วมงานอย่างสนุกสนาน

วันสุดท้าย คือ "วันบวช" พิธีของวันนี้จะเริ่มด้วยการนำส่างลองไปแห่รอบวิหาร 3 – 7 รอบ จากนั้นจะนำส่างลองขึ้นวัดเพื่อขออนุญาตทำการบรรพชาจากพระผู้ใหญ่ เมื่อท่านเจ้าอาวาส หรือพระผู้ใหญ่ได้อนุญาตแล้ว ส่างลองก็จะพร้อมกันกล่าวคำบรรพชาและอาราธนาศีล แล้วจึงเปลี่ยนเครื่องแต่งกายจากชุดเสื้อผ้าส่างลองที่สวยงามมาเป็นผ้ากาสาวพัตร์สีเหลือง และเป็นพระภิกษุ สามเณรอย่างสมบูรณ์

ก่อนเข้าพิธีบวชหนึ่งวัน ส่างลองจะได้เข้าพิธีเรียกขวัญและการสวดคำขวัญ เพื่อให้เป็นสิริมงคลด้วย ซึ่งงานประเพณีปอยส่างลองนี้ แต่ละแห่งจะมีการจัดแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับความสะดวกและลำดับขั้นตอนของที่นั้นๆ โดยเฉพาะกำหนดวัน ซึ่งที่ที่มีการจัดงานมากกว่า 3 วัน จะเลื่อนวันรับแขกออกไปวันอื่น และในช่วงการจัดงานจะมีการนำส่างลองไปเยี่ยมบ้าน หรือ ไปคารวะวัดและเยี่ยมเยือนหมู่บ้านต่างๆ ที่ขาดไม่ได้คือ ตลอดงานจะต้องมีการแห่ส่างลอง รอบวิหารของวัดพร้อมมีการรับศีลทุกเช้าเย็น ที่สำคัญตลอดงานส่างลองจะต้องไม่แตะพื้นที่ดิน ซึ่งหากจำเป็นจะไปไหนมาไหน ผู้เป็น ตะแป หรือ พ่อส้าน จะคอยดูแลโดยให้ขี่คอ และจะมี ตะแป อีกคนคอยกางร่มให้ตลอดเวลา
ที่มา ประเพณีไทย วิถีชีวิต ประเพณีปอยส่างลอง จังหวัดแม่ฮ่องสอน
 

5 ความคิดเห็น:

  1. มีความชัดเจนทำให้เข้าใจและทราบถึงประเพณ๊ของภาคเหนือได้เป็นอย่างดี

    ตอบลบ
  2. อยากไปเที่ยวภาคเหนือมากๆๆเลยค่ะ

    ตอบลบ
  3. อยากไปเที่ยวจังเลย

    ตอบลบ