วันอังคารที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ขนบธรรมเนียมประเพณีไทย

ระดับของขนบธรรมเนียมประเพณีไทย

 

ขนบธรรมเนียมประเพณีไทย แบ่งได้เป็น ๒ ระดับ คือ ประเพณีหลวง และประเพณีราษฎร์

  • ประเพณีหลวง คือ ประเพณีที่พระมหากษัตริย์โปรดเกล้าฯ ให้กระทำ
  • ประเพณีราษฎร์ คือ ประเพณีที่ราษฎร ชาวบ้านร้านตลาดจัดทำ
ศูนย์กลางของประเพณีหลวงคือ พระมหากษัตริย์ ส่วนประเพณีราษฎร์นั้น มีศูนย์กลางอยู่ที่หมู่บ้านหรือวัด

ทั้งประเพณีหลวง และประเพณีราษฎร์ ต่างก็มีความสัมพันธ์กัน ไม่ว่าจะเป็นประเพณีที่เกี่ยวกับวิถีการดำเนินชีวิต การทำมาหากิน การนับถือศาสนา การละเล่น วรรณกรรม และศิลปกรรมต่างๆ ตัวอย่างเช่น ประเพณีการเล่นเพลงฉ่อย โนรา และหมอลำ ประเพณีการเทศน์มหาชาติ ฮีตสิบสอง พระราชพิธีสิบสองเดือน ตลอดจนการสร้างวัดวาอาราม และการเขียนภาพในโบสถ์วิหาร


 
 
 
 
 
ความสัมพันธ์ของประเพณีทั้งสองระดับนั้น มีความกลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันตลอดมา คือ ได้มีการหยิบยืม และเลียนแบบซึ่งกันและกัน กล่าวคือ ประเพณีหลวงได้แบบอย่างของประเพณีราษฎร์มาขัดเกลาให้ละเอียดประณีตวิจิตร และมีความขลังศักดิ์สิทธิ์มากขึ้น เพราะประเพณีหลวงรับแบบแผนมาจาก อินเดีย จีน เปอร์เซีย รวมทั้งมอญ เขมร และชวา เข้ามาผสมผสานด้วย ทำให้มีความสมบรูณ์มากขึ้น แล้วค่อยขยายอิทธิพลไปสู่ประเพณีราษฎร์อีกครั้งหนึ่ง โดยมีวัดเป็นศูนย์กลางของความสัมพันธ์นี้
 


 
 
 
 
 แต่เดิมมีประเพณีไทยพื้นบ้านเป็นพื้นฐานโดยทั่วไปอยู่แล้ว ต่อมาเมื่อตั้งขึ้นเป็นเมือง ก็จะรับอิทธิพลทั้งประเพณีพื้นบ้าน และประเพณีหลวง จนกลายเป็นประเพณีพื้นเมือง ที่มีลักษณะพิเศษขึ้นมาอีกรูปแบบหนึ่ง ที่พร้อมจะส่งอิทธิพลไปสู่ประเพณีพื้นบ้านต่อไป ดังนั้น การที่จะทำความเข้าใจประเพณีหลวง โดยละเลยการทำความเข้าใจประเพณีราษฎร์ หรือในทางกลับกัน จะศึกษาประเพณีราษฎร์ โดยไม่มีพื้นฐานความเข้าใจพัฒนาการของประเพณีหลวง ย่อมอาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดได้ เพราะจะไม่สามารถทำความเข้าใจภาพรวม ของพัฒนาการ ของวัฒนธรรมไทยได้เลย เนื่องจากโดยสภาพแวดล้อม ทั้งทางภูมิศาสตร์ สังคม และความเป็นมาทางประวัติศาสตร์แล้ว วัฒนธรรมไทยมีลักษณะอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลง กล่าวคือ มีความพร้อมอยู่เสมอที่จะเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่มีความแปลกและใหม่กว่า ประเพณีหลวงจึงมักมีอิทธิพลเหนือประเพณีราษฎร์อย่างมาก การเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมไทยมักจะเริ่มที่ประเพณีหลวงก่อนเสมอ หรืออีกนัยหนึ่งเริ่มจากชนชั้นผู้นำก่อน แล้วจึงส่งผลมายังระดับประเพณีราษฎร์ของประชาชนในท้องถิ่นต่างๆ เป็นเงาตามตัว จนทำให้ประเพณีราษฎร์ในบางท้องถิ่น สลายตัวไปในปัจจุบัน

ดังนั้น การศึกษาพัฒนาการของวัฒนธรรมไทย จึงควรศีกษา ทั้งประเพณีหลวง และประเพณีราษฎร์ เพื่อจะได้มองเห็นภาพรวมของวัฒนธรรมไทยได้ชัดเจนขึ้น เพราะวัฒนธรรมไทยมีลักษณะค่อนข้างจะอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลง พร้อมอยู่เสมอที่จะเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่มีความแปลกและใหม่กว่า เมื่อใดที่ประเพณีหลวงมีการเปลี่ยนแปลง เมื่อนั้นประเพณีราษฎร์ก็มักจะได้รับอิทธิพลของการเปลี่ยนแปลงนั้นด้วยเสมอ ยิ่งในสมัยปัจจุบันการคมนาคมเจริญมากขึ้น สื่อมวลชน และการนิยมวัฒนธรรมสมัยใหม่ แพร่หลายไปอย่างรวดเร็ว ความเปลี่ยนต่างๆ ย่อมเกิดขึ้นได้อย่างง่ายดาย
ที่มา สารานุกรม สำหรับเยาวชน เล่มที่ 18
 
 
 
ความหมายของประเพณีไทย

 


ความหมายของประเพณีไทย
ประเพณีไทย มีความหมายรวมถึง แบบความเชื่อ ความคิด การกระทำ ค่านิยม ทัศนคติ ศีลธรรม จารีต ระเบียบ แบบแผน และวิธีการกระทำสิ่งต่าง ๆ ตลอดจนถึงการประกอบพิธีกรรมในโอกาสต่าง ๆ ที่กระทำกันมาแต่ใน อดีต ลักษณะสำคัญของประเพณี คือ เป็นสิ่งที่ปฏิบัติเชื่อถือมานานจนกลายเป็นแบบอย่างความคิด หรือการ กระทำที่สืบต่อกันมา และยังมีอิทธิพลอยู่ในปัจจุบัน

ประเพณีเกิดจากความเชื่อในสิ่งที่มีอำนาจเหนือมนุษย์ เช่น อำนาจของดินฟ้าอากาศ และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยไม่ทราบสาเหตุต่าง ๆ ฉะนั้น ประเพณี คือ ความประพฤติของคนส่วนรวมที่ถือกันเป็นธรรมเนียม หรือ เป็นระเบียบแบบแผน และสืบต่อกันมาจนเป็นพิมพ์เดียวกัน และยังคงอยู่ได้ก็เพราะมีสิ่งใหม่เข้ามาช่วยเสริม สร้างสิ่งเก่าอยู่เสมอ และกลมกลืนเข้ากันได้ดี

ประเพณี คือ ระเบียบแบบแผนในการปฏิบัติที่เห็นว่าดีกว่า ถูกต้องกว่า หรือเป็นที่ยอมรับของคนส่วนใหญ่ใน สังคมและมีการปฏิบัติสืบต่อกันมา

ประเพณี คือ ความประพฤติที่สืบต่อกันมาจนเป็นที่ยอมรับของคนส่วนใหญ่ในหมู่คณะ เป็นนิสัยสังคม ซึ่ง เกิดขึ้นจากการที่ต้องเอาอย่างบุคคลอื่น ๆ ที่อยู่รอบ ๆ ตน หากจะกล่าวถึงประเพณีไทยก็หมายถึง นิสัยสังคม ของคนไทยซึ่งได้รับมรดกตกทอดมาแต่ดั้งเดิมและมองเห็นได้ในทุกภาคของไทย ประเพณี เป็นเรื่องของความประพฤติของกลุ่มชน ยึดถือเป็นแบบแผนสืบต่อกันมานาน ถ้าใครประพฤตินอก แบบ ถือเป็นการผิดประเพณี เป็นการแสดงถึงเอกลักษณ์ของชาติอีกอย่างหนึ่ง โดยเนื้อหาสาระแล้ว ประเพณี กับวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่กลุ่มชนในสังคมร่วมกันสร้างขึ้น แต่ประเพณีเป็นวัฒนธรรมที่มีเงื่อนไขที่ค่อนข้าง ชัดเจน กล่าวคือเป็นสิ่งที่สังคมสร้างขึ้นเป็นมรดก คนรุ่นหลังจะต้องรับไว้ และปรับปรุงแก้ไขให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป รวมทั้งมีการเผยแพร่แก่คนในสังคมอื่น ๆ ด้วย


ประเพณี พจนานุกรมภาษาไทยฉบับราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายไว้ ว่า ขนบธรรมเนียมแบบแผน


 
 
 
 
ขนบ คือ ระเบียบแบบอย่าง
ธรรมเนียม คือ ที่นิยมใช้กันมา
 

รวมความแล้ว ประเพณีก็คือ “สิ่งที่คนส่วนใหญ่ในสังคมประพฤติปฏิบัติสืบต่อกันมาเป็นเวลานาน เป็นที่ยอมรับและเป็นระเบียบแบบแผนเดียวกันหาก เป็นอยู่ชั่วขณะแม้จะนิยมประพฤติกันทั่วไปก็ไม่ใช่ประเพณีเป็นแต่แฟชั่น (Fashion) ซึ่งเป็นความนิยมกันสมัยหนึ่งเท่านั้น พอหมดความนิยมก็เลิกประพฤติปฏิบัติกัน”


ประเพณีไทยไม่ได้มีอยู่โดยธรรมชาติ แต่เป็นสิ่งที่คนหรือสังคมโดยส่วนรวมสร้างให้มีขึ้นแล้วถ่ายทอดให้แก่กัน พระยาอนุมานราชธนได้กล่าวถึงกำเนิดของประเพณีไทยว่า “เกิดจากความประพฤติหรือ การกระทำของใครคนหนึ่งหรือหลายคน ซึ่งเป็นประโยชน์และความจำเป็นตามที่ต้องการจากการกระทำเช่นนั้น คนอื่นเห็นดีก็ทำตามเป็นแบบอย่างเดียวกัน และสืบต่อเป็นส่วนรวมมาช้านานจนกลายเป็นส่วนสำคัญของวัฒนธรรมแห่งชาติขึ้น”

ประเพณีไทยที่ปฏิบัติหรืองดเว้นปฏิบัติกันในสังคมนั้น สามารถจำแนกออกได้เป็น 3 ลักษณะ ดังนี้

๑. จารีตประเพณีหรือกฎศีลธรรม (Mores)
หมายถึงสิ่งที่สังคมใดสังคมหนึ่งยึดถือและปฏิบัติสืบกันมาอย่างต่อเนื่องและมั่นคง เป็นเรื่องของความถูก ผิด มีเรื่องของศีลธรรมเข้ามาร่วมด้วย ใครฝ่าฝืนหรือเฉยเมยถือว่าเป็นการละเมิดกฎของสังคม ผิดประเพณีของสังคม จารีตประเพณีหรือกฎศีลธรรมของแต่ละสังคมย่อมไม่เหมือนกันสังคมไทยเห็นว่า การมีความสำพันธ์ก่อนแต่งงานเป็นการผิดจารีตประเพณี แต่ชาวสวีเดนเห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดา ดังนั้นจารีตประเพณีเป็นเรื่องของแต่ละสังคม จะใช้ค่านิยมของสังคมใดสังคมหนึ่งไปตัดสินสังคมอื่นไม่ได้

๒. ขนบธรรมเนียมหรือสถาบัน (Institution)
เป็นระเบียบแบบแผนที่สังคมได้กำหนดไว้แล้วปฏิบัติสืบมา คือรู้กันเองไม่ได้วางเป็น ระเบียบแบบแผนไว้ว่าควรปฏิบัติกันอย่างไร มักใช้คำว่าสถานแทนขนบธรรมเนียมประเพณี ซึ่งคนในสังคมมีความพอใจ เป็นเรื่องที่ปฏิบัติสืบต่อกันมา มีข้อกำหนดบังคับเอาไว้ เช่นสถาบันการศึกษา มีครู ผู้เรียน เจ้าหน้าที่ มีระเบียบการรับสมัครเข้าเรียน การสอบไล่ ประเพณีเกี่ยวกับการเกิดการบวช การแต่งงาน การตาย มีกฎเกณฑ์ของประเพณีวางไว้ แต่อาจเปลี่ยนแปลงได้เมื่อจำเป็น

๓. ธรรมเนียมประเพณีหรือประเพณีนิยม (Convention)
เป็นแนวทางการปฏิบัติในการดำเนินชีวิตประจำวันที่ปฏิบัติกันมาจนเคยชิน แต่ต้องไม่ ขัดแย้งกัน เป็นเรื่องที่ทุกคนควรทำแม้มีผู้ฝ่าฝืนหรือทำผิดก็ไม่ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ แต่อาจถูกตำหนิไว้ว่าไม่มีมารยาท ไม่รู้จักกาลเทศะ เช่น การแต่งกาย การรับประทานอาหาร การดื่มน้ำจากแก้ว

ประเภทของประเพณีไทยที่สำคัญบางอย่าง

ประเพณีไทยที่เกี่ยวกับวิถีชีวิตของชาวไทยมีตลอดทั้งปี ในที่นี้จะขอกล่าวถึงที่สำคัญหรือที่นิยมกันในปัจจุบันบางประเพณีเท่านั้น แบ่งได้กว้างๆ เป็น 3ประเภท คือ
 
๑. ประเพณีไทยที่เกี่ยวกับครอบครัว เช่น เรื่องทำขวัญเดือน โกนจุก ทำบุญขึ้นบ้านใหม่ บวช แต่งงาน ตาย เป็นต้น

๒. ประเพณีไทยที่เกี่ยวกับส่วนรวม เนื่อง ด้วยเทศกาล คือ คราวสมัยที่กำหนดขึ้นเป็นประเพณี เพื่อทำบุญและรื่นเริง เช่น ตรุษ สงกรานต์ เข้าพรรษา สารท ออกพรรษา ลอยกระทง ทอดผ้าป่า ทอดกฐิน เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีประเพณีที่จัดขึ้นในแต่ละจังหวัดในฤดูกาลต่างๆ

๓. รัฐพิธีและพระราชพิธี เนื่อง จากประเพณีไทยต่างๆ มีรายละเอียดมากจึงขอย่อสรุปเฉพาะประเพณีสำคัญ ที่เป็นประเพณีครอบครัวและประเพณีส่วนรวม ประเพณีไทย ๔ ภาค และจะนำมานำเสนอในโอกาสต่อไป
 
 
 
 
 

6 ความคิดเห็น: